กฟผ. สะดุดยังอนุมัตินำเข้า LNG ไม่ได้

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1154 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฟผ. สะดุดยังอนุมัตินำเข้า LNG ไม่ได้

กฟผ. สะดุดยังอนุมัตินำเข้า LNG ไม่ได้

นายศิริ จิระพงศ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อสัปดาห์ก่อน มีการหารือเรื่องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งล่าสุดมีกระแสข่าวว่า กฟผ. คัดเลือกให้ บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ชนะการประมูลจัดหาและนำเข้า LNG ให้กับ กฟผ. ปริมาณไม่เกิน 0.8 -1.5 ล้านตันต่อปี เนื่องจากเสนอราคาต่ำสุด แต่ยังไม่สามารถประกาศรายชื่อผู้ชนะอย่างเป็นทางการได้ เพราะต้องรอการอนุมัติจากภาครัฐก่อน

โดยการจัดหา LNG ของ กฟผ. กระทรวงพลังงานได้ตั้งโจทย์ว่า จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องเป็นผู้เสนอราคานำเข้า LNG ที่มีส่วนลดสูงสุดเมื่อเทียบกับราคานำเข้าของสัญญาระยะยาวทุกสัญญาที่ประเทศไทยของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาซื้อ-ขาย LNG ไว้ปริมาณรวม 5.2 ล้านตันต่อปี

แต่ กบง. เป็นห่วงเรื่องปริมาณนำเข้า LNG จำนวน 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี ในปี 2563 หากนำเข้ามาในปริมาณที่กำหนดไว้ แต่ไม่สามารถใช้ได้หมด ส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร จนอาจทำให้เกิดปัญหากรณีที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ต้องจ่ายเงิน (Take or Pay) ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะสะท้อนผ่านไปยังค่าไฟฟ้าที่มาเรียกเก็บกับประชาชน ซึ่งจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน และจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยที่ ปตท. ไปซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ประเทศเมียนมา โดยสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ที่ได้ทำกันไว้กำหนดปริมาณการซื้อของ ปตท. ในแต่ละปีว่าเป็นจำนวนเท่าไร แล้วช่วงที่ต้องนำเข้าตามสัญญา ความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงไม่สามารถนำเข้าก๊าซฯ จากเมียนมาได้ จึงเกิดกรณี Take or Pay โดยต้องจ่ายเงินล่วงหน้าตามปริมาณที่กำหนดไว้ แต่ฝากก๊าซฯ ไว้ในแหล่งแล้วค่อยเรียกมาใช้ในภายหลัง กรณีการนำเข้า LNG ของ กฟผ. จึงเทียบเคียงกับกรณีนี้

กบง. จึงได้สั่งการให้ กฟผ. และ ปตท. ไปวางแผนร่วมกันว่า ปริมาณก๊าซฯ ที่ กฟผ. นำเข้าในช่วงปี 2563 จะขัดแย้งกับปริมาณก๊าซฯ ตามสัญญาของ ปตท. ที่ต้องนำเข้ามา 5.2 ล้านตันต่อปี หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศ และไม่ให้เกิดปัญหา Take or Pay รวมทั้งได้มอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้กำกับดูแลตามข้อกำหนดของรัฐบาลที่เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซฯ ของ ปตท. ไปจัดการเรื่องนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของ กฟผ. จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน และการจัดหา LNG ของ ปตท. และให้ส่งเรื่องกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์นี้

ตามแผนของ กฟผ. คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขาย LNG ภายในเดือนมิถุนายน 2562 และจะเริ่มส่งมอบก๊าซ LNG ล็อตแรกเดือนกันยายน 2562 โดยสัญญาปีแรกอยู่ที่ 2.8 แสนตัน/ปี เป็นสัญญา 8 ปี โดยข้อกำหนดให้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่ระดับ 0.8-1.5 ล้านตัน/ปี

นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติรับทราบร่างแผนก๊าซธรรมชาต 20 ปี (Gas Plan) ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (พีดีพี 2018) โดยแผนก๊าซฯ กำหนดให้ปี 2580 ไทยจะใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า 28% จากปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด คิดเป็น 5.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปีนี้ใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า 60-62% จากปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด คิดเป็น 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยก๊าซฯ จะมาจากอ่าวไทย บนบก และนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยปี 2580 ไทยจะนำเข้า LNG จำนวน 23 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของไทยจะถูกลง 0.15 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่ 3.62 บาทต่อหน่วย เนื่องจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ และบงกชในอ่าวไทยในราคาต่ำ ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายถูกลงด้วย

หลังจากนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ หลังจากนั้นจะนำกลับมาพิจารณาใน กบง. อีกครั้ง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาบังคับใช้ภายใต้แผนพีดีพี 2018 ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้