ปตท. – PTTOR – GC ทำ Café Amazon Circular Living Concept

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  2092 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. – PTTOR – GC ทำ Café Amazon Circular Living Concept

ปตท. – PTTOR – GC ทำ Café Amazon Circular Living Concept

สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ตกแต่งร้านจากขยะแปรรูป

 
กลุ่ม ปตท. จับมือกันร่วมสร้างสรรค์ Café Amazon ด้วยการใช้ประโยชน์จากขยะมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ทันสมัยตกแต่งร้าน เปิดร้านแรกที่สาขา พีทีที สเตชั่น สามย่าน ตอบโจทย์แนวคิดรักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ปตท. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกันเปิดร้านกาแฟ Café Amazon สาขา พีทีที สเตชั่น สามย่าน ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ตอบโจทย์แนวคิดรักษ์โลก และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ประโยชน์จากขยะมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ร้านกาแฟ เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คนไทยมีทางเลือกในการอุปโภคและบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ในราคาเป็นธรรม และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้นำเยื่อกาแฟ (Coffee Chaff) ซึ่งเป็นของเหลือหลักจากโรงคั่วกาแฟ นำมาบดและอบเพื่อไล่ความชื้น และขึ้นรูปเป็นวัสดุคอมโพสิต ร่วมกับน้ำยา อีพอกซี เรซิน (Bio-Based Epoxy) เพื่อใช้เป็นวัสดุตั้งต้นในการทำโต๊ะ ตู้ เคาน์เตอร์ ชั้นวางของ และเฟอร์นิเจอร์ โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คือ น้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน รับน้ำหนักได้มาก ผิวมันวาว คงทนต่อสารเคมีได้ดี เป็นการนำเยื่อกาแฟมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

ปตท. ภาคภูมิใจที่ได้ร่วมผลักดันการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์สีเขียวในประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน ปตท. ยังคงยึดถือเจตนารมณ์เดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTOR กล่าวว่า Café Amazon Circular Living Concept สะท้อนเจตนารมณ์ของบริษัท ในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ในการสร้างธุรกิจหมุนเวียน และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลัก Taste of Nature ของ Café Amazon อีกทั้งการที่ Café Amazon มีจำนวนสาขาและยอดขายกาแฟสูงที่สุด จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะภายในร้าน และการลดปริมาณการใช้อุปกรณ์พลาสติก จึงได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของใช้ภายในร้านให้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ อาทิ แก้วร้อน (Bio PBS) ที่เป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพย่อยสลายสู่ธรรมชาติได้ 100% แก้วเย็น (Bio PLA) ที่ทำจากพืช 100% หลอด (Bio PBS + PLA) รวมถึงการใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกใส่เบเกอรี่ ทำให้สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกของร้านได้ถึง 645 ตันต่อปี

นอกจากนี้ PTTOR เล็งเห็นว่าวัสดุใช้แล้วภายในร้านจำนวนมากสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์ได้อีก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือจนเกิดเป็น Café Amazon Circular Living Concept สาขาต้นแบบ ทั้งนี้ PTTOR มีแผนการขยายร้าน Café Amazon Circular Living Concept ในอนาคตเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกับ กลุ่ม ปตท. ต่อไป

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกของ GC จะช่วยสร้างสรรค์ความพิเศษให้กับร้าน Café Amazon Concept Store คือ วัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้าน ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภายในร้าน Café Amazon โรงคั่วกาแฟ และขยะพลาสติกที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นของตกแต่ง ภายใต้แนวความคิด Circular Living ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและรู้คุณค่าตามหลักการบริหารจัดการทรัพยากรตามหลัก 5Rs ภายในองค์กร (Reduce การลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่ Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้)

สำหรับ Café Amazon Circular Living Concept at PTT Station สามย่าน มีผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในร้าน จะมี Upcycling Decorative Wall ผนังตกแต่งร้านรูปนกมาคอร์ ซึ่งนำแก้วกาแฟพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) ของคาเฟ่ อเมซอน กว่า 5,000 ใบ มาบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปขึ้นรูป นำมาจัดเรียงสร้างสรรค์เป็นผนังภาพนกแก้วมาคอร์ มาสคอทสำคัญของร้านกาแฟ อเมซอน

Upcycling Table โต๊ะ, Upcycling Shelves ชั้นวางของ และ Upcycling Cabinet ตู้ มีการนำ Coffee Chaff Waste หรือเยื่อกาแฟที่เป็นของเสียจากโรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อบและบดเพื่อไล่ความชื้น และขึ้นรูปโดยใช้เทคนิคคอมโพสิทบน fiberglass ที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้าง เคลือบด้วยน้ำยาเรซิน ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบตั้งต้นจากธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนต่อแรงขีดข่วน มาประกอบเป็นโต๊ะที่แข็งแรง และทนทานต่อการใช้งาน สามารถนำมาใช้ทดแทนไม้จริง

Upcycling Vertical Garden กระถางสวนแนวตั้ง มาจากแกลลอนนมพลาสติกที่ใช้ภายในร้านคาเฟ่ อเมซอนกว่า 6,300 ขวด ถูกนำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ และนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล แล้วนำไปขึ้นรูป

Eco-Board มาจากถุงบรรจุเมล็ดกาแฟคาเฟ่ อเมซอนที่ใช้แล้วกว่า 7,200 ถุง ถูกนำมาบดแล้วอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น กลายเป็น Board สีสันสวยงาม

Upcycling Ceiling เพดาน ทำมาจากถาดพลาสติกชนิด Polystylene ที่ใช้ในร้านคาเฟ่ อเมซอน กว่า 75,000 ชิ้น ถูกนำมาบดขึ้นรูปใหม่ ผลิตออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ผสมกับเม็ดสีและขึ้นรูป และรีดเป็นแผ่น นำมาออกแบบติดตั้งเป็นเพดานร้าน

และ Upcycling Armchair มาจากขยะขวดน้ำดื่ม PET จำนวน 1,200 ขวด ถูกนำไปบดเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้หลอมละลายและดึงออกมาเป็นเส้นใยรีไซเคิล ส่งให้โรงงานทอ ออกแบบรูปแบบการทอ และทอเป็นผืนผ้า และนำมาใช้ผลิตเป็นชุดเก้าอี้และโซฟาที่ใช้ภายในร้าน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้