กบง. อนุมัติเวลาขยายส่วนต่างราคา บี20 ถึง ก.ย.นี้

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  455 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กบง. อนุมัติเวลาขยายส่วนต่างราคา บี20 ถึง ก.ย.นี้

กบง. อนุมัติเวลาขยายส่วนต่างราคา บี20 ถึง ก.ย.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มรตนเองเป็นประธาน มีมติขยายระยะเวลาให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลธรรมดา (บี7) จำนวน 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. 62 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 62 โดยคงอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไว้ที่ 4.50 บาทต่อลิตร เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน แก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด และสร้างเสถียรภาพปาล์มน้ำมัน และส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี20

จากการที่ กระทรวงพลังงาน ได้ส่งเสริมให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนจากค่าบริการขนส่ง รวมทั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด และสร้างเสถียรภาพปาล์มน้ำมัน โดยดำเนินการมา ตั้งแต่ วันที่ 8 มิ.ย. 61 จนถึงปัจจุบัน

จากการที่ กบง. มีมติให้ส่วนลดพิเศษ ทำให้ส่วนต่างราคาขายปลีกดีเซล บี20 กับบี7 เพิ่มขึ้นเป็น 5 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2561 น้ำมันดีเซล บี 20 สามารถจำหน่ายที่สถานีบริการได้ทั่วไป และมีการประกาศรุ่นรถยนต์ที่รองรับการใช้ดีเซล บี20 ทำให้ผู้ใช้รถยนต์มีความเชื่อมั่นและหันมาใช้น้ำมันดีเซล บี20 มากขึ้น เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ณ วันที่ 21 ก.ค. 62 มีผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จำนวน 13 ราย จำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ บี 20 โดยแบ่งเป็น Fleet 532 แห่ง สถานีบริการจำนวน 1,181 แห่ง การส่งเสริมน้ำมันดีเซลฯ บี20 โดยให้ราคาขายปลีก บี20 ต่ำกว่า บี7 จำนวน 5 บาทต่อลิตร ส่งผลให้การใช้บี20 จากเฉลี่ย 0.030 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนก.ค. 61 เป็นเฉลี่ย 5.067 ล้านลิตรต่อวัน ในปัจจุบัน ส่วนไบโอดีเซล บี100 เพิ่มขึ้น จากเฉลี่ย 4.103 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือน ก.ค. 61 เป็นเฉลี่ย 5.215 ล้านลิตรต่อวัน ในปัจจุบัน

สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ ราคา CPO เริ่มมีแนวโน้มลดลง จาก 21.87 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงต้นเดือนก.ค. 62 มาอยู่ที่ 16.75 บาทต่อกิโลกรัม ในวันที่ 26 ก.ค. 62

ที่ประชุม กบง. ได้มีมติการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับกลุ่มหาบเร่แผงลอย และตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะต่อไปอีก 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.2562) โดยกระทรวงพลังงาน ได้ขอความร่วมมือกับ ปตท. ในการตรึงราคาปัจจุบันเอาไว้ก่อน เพื่อให้กระทรวงพลังงานได้มีเวลาเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ชัดเจนขึ้น ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของกระทรวงการคลัง

ซึ่งที่ผ่านมาการช่วยเหลือราคา LPG สำหรับกลุ่มหาบเร่แผงลอย โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ โดยตัดสิทธิผู้ลงทะเบียนที่ไม่มีการใช้สิทธิเป็นระยะเวลาย้อนหลังตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปและปรับลดปริมาณ LPG ที่ให้ส่วนลดจากสูงสุดไม่เกิน 150 กก.ต่อเดือน เป็นไม่เกิน 75 กก.ต่อเดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562

ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยต่อ กบง. จึงได้มีมติมอบหมายให้ ธพ. ขอความร่วมมือ ปตท. ให้ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบฯ โดยขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่อยู่ในโครงการฯ เพิ่มอีก 2 เดือน จากเดือน ส.ค. – ก.ย. 62 และขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 60 ล้านบาท

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 28 กรกฏาคม 2562 ฐานะสุทธิฯ 36,742 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 42,994 ล้านบาท และบัญชี ก๊าซ LPG -6,252 ล้านบาท) คาดการณ์ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 ฐานะกองทุนของกลุ่มก๊าซ LPG จะติดลบ 6,324 ล้านบาท สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 จะติดลบ 6,090 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่เกินกรอบเพดานการชดเชยราคาก๊าซ LPG ตามมติ กบง. ที่กำหนด ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องขยายกรอบเพดานการใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้