IRPC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2562

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  521 จำนวนผู้เข้าชม  | 

IRPC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2562

IRPC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2562
“เน้นนวัตกรรมนำธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์”

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า “ภาพรวม ผลประกอบการในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 IRPC มีรายได้จากการขาย 57,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาขายร้อยละ 4 และปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 โดยมีปริมาณการกลั่นน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 206,000 บาร์เรล/วัน จาก 200,000 บาร์เรล/วัน ในไตรมาส 1 เป็นผลจากโรงงาน RDCC และโรงงานกลุ่มปิโตรเคมีกลับมาผลิตตามปกติหลังการปิดซ่อมบำรุงตามแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน โดยมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) จำนวน 5,429 ล้านบาท (9.11 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น หลังจากโรงงาน RDCC กลับมาผลิตตามปกติ แม้ว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ IRPC มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 491 ล้านบาท (ส่วนใหญ่จากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน Oil Hedging) ลดลง 229 ล้านบาท เนื่องจากบันทึกค่าเผื่อการลดลงของสินค้าคงเหลือ (LCM) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) มีจำนวน 5,920 ล้านบาท (9.94 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 IRPC มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากเงินค่าปรับจากการรับประกันงานก่อสร้างโครงการ UHV อย่างไรก็ตาม IRPC มีค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากการปรับเงินชดเชยให้กับลูกจ้างตาม พรบ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ส่งผลให้มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) อยู่ที่ 2,304 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ IRPC มีกำไรสุทธิจำนวน 507 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 231 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562”

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2562 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2561 IRPC มีรายได้จากการขายสุทธิ จำนวน 111,976 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 สาเหตุหลักเกิดจากราคาขายเฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 203,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 8,000 บาร์เรล/วัน เนื่องจากโรงงาน RDCC หยุดผลิตเป็นเวลา 28 วัน ในไตรมาส 1 และมี Market GIM จำนวน 10,387 ล้านบาท (8.90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล) ลดลงร้อยละ 39 เนื่องจากส่วนต่างราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ในภูมิภาค และอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย IRPC มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิรวม 1,211 ล้านบาท ลดลง 1,208 ล้านบาท ส่งผลให้ Accounting GIM มีจำนวน 11,598 ล้านบาท (9.94 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล) ลดลง ร้อยละ 40 ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในรายการปรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ส่งผลให้มี EBITDA อยู่ที่ 4,659 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 63 อย่างไรก็ตาม IRPC มีต้นทุนทางการเงินลดลงและมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิจำนวน 660 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

IRPC คำนึงถึงการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยได้ออกมาตรการเพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก บริหารสภาพคล่องของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 IRPC มีเงินสด คงเหลืออยู่ที่ 1,915 ล้านบาท และมีงบลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจน (committed) จำนวน 71,043 ล้านบาท

IRPC ได้ดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน โครงการ E4E หรือ EVEREST Forever เป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการ EVEREST และดำเนินโครงการ IRPC 4.0 เป็นการบูรณาการระบบดิจิทัล และนำนวัตกรรมทันสมัยต่างๆ มาใช้ในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ

นายนพดลกล่าวต่อไปว่า “IRPC มุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Grade) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene: โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษ P301GR มีคุณสมบัติการใช้งานที่โดดเด่นเหมาะสำหรับการผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า มีประสิทธิภาพ โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดย IRPC มองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018)”

นอกจากนี้ IRPC ยังขยายโอกาสด้วยการเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับคู่ค้า โดยการใช้น้ำมันจากขยะพลาสติกแปรรูป 300,000 - 400,000 ลิตร/เดือน ที่ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย “ไพโรไลซิส” ได้น้ำมันดิบ ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ลดปริมาณขยะได้ 560 ตัน/เดือน ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจให้เป็นไปตามแผน พร้อมตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2562 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 67 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกออกไปอีก 9 เดือน โดยจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2563 และสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึงช่วงฤดูเฮอริเคนในสหรัฐฯ ที่อาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวเม็กซิโกลดลง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ และการส่งออกน้ำมันดิบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตเพอร์เมียนไปยังอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นท่าส่งออกน้ำมันดิบหลักของประเทศ คาดว่าจะ แล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

แนวโน้มตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 3/2562 คาดว่าความต้องการเม็ดพลาสติกจะปรับตัวสูงขึ้นจากการยุติการเพิ่มมาตราการทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังการประชุม G20 ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 ประกอบกับโรงกลั่นและปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ในเท็กซัสเกิดไฟไหม้ซึ่งกระทบการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์โดยตรง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และภายในประเทศจีนเองก็มีการปรับตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตจากร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 13 และการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ลดลงในช่วงฤดูฝน รวมถึงกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซียที่จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงปลายปี และประเด็นการเพิ่มมาตรการทางภาษีหลังจากสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนยังไม่ได้ซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามที่สัญญาเป็นปัจจัยกดดันราคาผลิตภัณฑ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้