กบง. อนุมัติค่าชาร์จรถ EV 2.63 บาท/หน่วย

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  5596 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กบง. อนุมัติค่าชาร์จรถ EV 2.63 บาท/หน่วย

กบง. อนุมัติค่าชาร์จรถ EV 2.63 บาท/หน่วย


คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติแผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถูกกว่าค่าไฟฟ้าทั่วไป อยู่ที่ 2.63 บาท/หน่วย พร้อมผ่านร่าง 4 แผนหลักด้านพลังงาน และอนุมัติส่วนต่างราคาราคาไบโอดีเซลเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคใช้ให้ได้ตามเป้าหมาย และเตรียมเสนอลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น 50 สตางค์/หน่วย

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบง. เห็นชอบผลการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) โดยเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use : TOU) หรือเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 กิโลโวลต์) ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าขนส่งสาธารณะ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไปศึกษาเพิ่มเติม ก่อนนำเสนออัตราที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งค่าไฟฟ้าน่าจะอยู่ในอัตราเดียวกับรถไฟฟ้าส่วนบุคคล แต่จะขอความร่วมมือให้นำไปลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้กับประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping) โดยกรอบนโยบายครอบคลุมพื้นที่ชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ถนนสายหลักระหว่างเมือง สำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น หรือรองรับที่เดินทางมาจากเมืองอื่น โดยให้ภาครัฐและเอกชนสามารถยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ เพื่อให้มีจำนวนสถานีเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นผู้ใช้รถ EV และกระตุ้นตลาด EV ในภาพรวม

กบง.เห็นชอบร่างแผนด้านพลังงานสำคัญ 4 แผนที่ได้ปรับปรุงใหม่ ได้แก่ ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP 2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2562-2580 (Gas Plan 2018)

โดยร่างแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ให้คงเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ไว้ตลอดช่วงแผนถึงปี 2580 ที่ 56,431 เมกะวัตต์ ทำให้การกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นที่ปลายแผน PDP คงเดิมที่ 77,211 เมกะวัตต์ แต่จะปรับเปลี่ยนแผนการจ่ายไฟฟ้าของโรงฟ้าพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้ฟอสซิล เช่น 1.ให้คงเป้าหมายในการรับซื้อคงเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์ แต่จะลดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 69 เมกะวัตต์ และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 2.เพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (ชีวมวล), ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid เข้าระบบตั้งแต่ปี 2563-2567 มีกำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ 3.ชะลอโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ ปีละ 60 เมกกะวัตต์ จากปี 2564-2565 ไปเป็นปี 2565-2566 4.เร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 เป็นปี 2565 5.ใช้ตามสมมติฐานเดิม PDP 2018 ในการรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าชุมชน) ภายหลังปี 2567 ซึ่งค่าไฟฟ้าเฉลี่ย PDP 2018 อยู่ที่ 3.5799 บาท/กิโลวัตตชั่วโมง PDP 2018 Rev.1 อยู่ที่ 3.6366 บาท/กิโลวัตตชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้น 0.0567 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง

ส่วนร่าง AEDP 2018 ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า โดยในปี 2563-2567 จะมีพลังงานชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid กำลังผลิตรวม 1,933 เมกกะวัตต์ ลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพตามทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต คงเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2580 และคงเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์

ร่าง EEP 2018 ยังคงรักษาระดับเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30% ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 สามารถลดการใช้พลังงาน 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) โดยใช้ 3 กลยุทธ์ คือ ภาคบังคับด้านกฎระเบียบ ภาคส่งเสริมด้วยการจูงใจทางการเงิน และภาคสนับสนุนด้านพัฒนาบุคลาการ การวิจัยและพัฒนา มุ่งสู่ 5 กลุ่มเป้าหมาย สาขาอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า บ้านอยู่อาศัย เกษตรกรรม และการขนส่ง โดยเป็นการเพิ่มภาคเกษตรกรรมเข้ามาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม คาดว่าจะเกิดการประหยัดพลังงานของประเทศในช่วงปี 2561-2580 รวม 54,371 ktoe คิดเป็นมูลค่าเงินที่จะประหยัดได้ 815,571 ล้านบาท ช่วยลดการจัดหาโรงไฟฟ้าได้ 4,000 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 170 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ร่าง Gas Plan 2018 ความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี อยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ความต้องการใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง อย่างไรก็ตาม จากการประมูลแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณเป็นผลสำเร็จ ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตามร่างแผนใหม่ในช่วงปลายแผนจะอยู่ที่ 26 ล้านตันต่อปี น้อยกว่าเดิมที่คาดไว้ 34 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 ความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3,603 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับการจัดหาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 Rev.1 มีความจำเป็นต้องเตรียม LNG Terminal ในภาคใต้ ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ในปี 2570 และการจัดหาก๊าซฯ ผ่านโครงข่ายท่อบนบกจะเพียงพอใช้ถึงปี 2562 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติม ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการระบบโครงข่ายก๊าซฯ ให้เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยให้ปรับส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล บี10 ให้ถูกกว่า บี7 ที่ 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 2 บาทต่อลิตร และบี20 ถูกกว่า บี10 แค่ 50 สตางค์/ลิตร จากเดิม 1 บาทต่อลิตร และถูกกว่า บี7 อยู่ 3.50 บาทต่อลิตร เพื่อกระตุ้นการใช้ บี10 ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ว่าจะเฉลี่ยการใช้ที่ 57 ล้านลิตรต่อวันในปีนี้ และให้ผู้ประกอบการกำหนดค่าการตลาด บี10 มีค่าการตลาด 1.85 บาทต่อลิตร บี 20 เหลือ 1.55 บาทต่อลิตร และบี7 เหลือ 1.50 บาทต่อลิตร เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจำหน่าย บี10 อีกทางหนึ่ง

สำหรับผลการพิจารณาอนุมัติของ กบง.ทั้งหมดในวันนี้ จะต้องมีการนำเสนอเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ก่อน จึงจะประกาศใช้ได้ต่อไป

นายกุลิศ ยังได้กล่าวถึงผลการหารือเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นน้ำมันของคณะทำงานร่วมภาคประชาชนว่า ได้เห็นชอบร่วมกันในการที่จะลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลงอีก 50 สตางค์ต่อลิตร เป็นผลมาจากการปรับลดสูตรการคำนวณค่าขนส่งจากสิงคโปร์ ค่าประกันภัย ค่าความเสี่ยง และค่าปรับสูตรน้ำมัน ซึ่งจะทำให้น้ำมันหน้าโรงกลั่นถูกลง อย่างไรก็ตาม ระหว่างกระทรวงพลังงานและภาคประชาชนยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ว่า ภาคประชาชนเห็นควรให้ลดราคาลง 1 บาทต่อลิตร เบื้องต้นจึงให้ลดส่วนต่างลงแค่ 50 สตางค์ต่อลิตรก่อน ส่วนอีก 50 สตางค์ต่อลิตร จะต้องพิจารณาข้อมูลกันต่อไปว่ามีความเป็นไปได้ในการที่จะปรับลดได้มากขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเสนอให้ กบง.พิจารณาอีกครั้งก่อนประกาศปรับลดราคาน้ำมันได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้