SPCG กำไรสุทธิปี 2562 กว่า 3,011.3 ล้านบาท

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  531 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SPCG กำไรสุทธิปี 2562 กว่า 3,011.3 ล้านบาท

SPCG ปันผลปี 2562 ที่ 1.22 บาท สูงกว่าปีผ่านมา โดยมีกำไรสุทธิปี 2562 กว่า 3,011.3 ล้านบาท พร้อมประกาศแผนธุรกิจ 2563 ตั้งเป้าสร้างรายได้ 6.7 พันล้านบาท จาก 2 ธุรกิจหลัก โซลาร์ฟาร์ม และ โซลาร์รูฟ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ จำนวน 5,246.5 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 681.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 มีกำไรสุทธิ จำนวน 3,011.3 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 2.74 บาท เติบโตขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีกำไรสุทธิ จำนวน 2,923.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 87.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 3

ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติอนุมัติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 1.22 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 701,272,800 บาท ซึ่งได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.50 บาท คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายในงวดนี้ อัตราหุ้นละ 0.72 บาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผล ในวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563 โดยการจ่ายปันผลครั้งนี้ ยังสูงกว่าเงินปันผลงวดผลการดำเนินงานปี 2561 ที่ 1.20 บาทต่อหุ้น พร้อมทั้งกำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563 เวลา 14.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่น เอบี ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจสำหรับปี 2563 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 6,700 ล้านบาท ซึ่งจะมาจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จำนวน 36 โครงการ รวมกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ และธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR บริษัทในเครือของ SPCG

ดร.วันดี กล่าวถึงธุรกิจ Solar Roof ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากได้มีพัฒนาต่อยอดความสำเร็จ นำเอาระบบ Solar Roof ไป Leasing ในจำนวน 100% กับสถาบันการเงินได้ระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ร่วมกับบริษัท มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส แอนด์ ไฟแนนซ์ จำกัด (“MUL”) บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (“PEA ENCOM”) และบริษัท เคียวเซร่า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น (“Kyocera”) เพื่อเพิ่มศักยภาพ และโอกาสการลงทุน Solar Roof สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย เนื่องจากในแต่ละวันโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) นั้น จะเข้ามามีส่วนช่วยในการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้เป็นอย่างมาก สามารถนำพลังงานที่ผลิตได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ มาใช้เป็นพลังงานหลักในเวลากลางวันได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้นและยังมีส่วนช่วยในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วยจึงเชื่อมั่นว่าระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) นั้นจะได้รับความนิยมแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นต่อไป

ในส่วนของธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม SPCG ได้ลงทุนร่วมกับ บริษัท เคียวเซร่า คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น(“Kyocera”), Kyudenko Corporation, และผู้ร่วมลงทุนรายย่อยอื่นๆ เพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มภายใต้ชื่อโครงการ “Ukujima Mega Solar Project” ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 469 เมกะวัตต์ ณ เกาะ Ukujima เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 2,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.92% โดยมีกำหนดการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จในปี 2566

ปัจจุบัน SPCG มีโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยทั้งหมด 36 โครงการ กระจายอยู่ในพื้นที่ 10 จังหวัด รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครั้งแรก ในปี 2553 ที่โครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 1) และดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 36 โครงการ เมื่อปี 2557 สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 384.9 ล้านหน่วย ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา โครงการโซลาร์ฟาร์มทั้ง 36 โครงการ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 397.4 ล้านหน่วย สร้างสถิติใหม่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบ 36 โครงการ ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับคุณภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้โครงการสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าเวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 5 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้