Last updated: 11 ส.ค. 2563 | 914 จำนวนผู้เข้าชม |
สนพ. เผยการใช้พลังงาน 6 เดือนแรกลดลง 10.1%
ผลจากโควิด-19 ทำให้การใช้พลังงานชะงัก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นลดลง 10.1% จากการใช้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก ในขณะที่ไฟฟ้านำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 12.6% โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 4.3 % การใช้น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล ลดลง 7.1 % การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 48.6 % การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลง 30.2 % ภาคปิโตรเคมี มีการใช้ลดลง 18.8 % ส่วนภาคอุตสาหกรรม มีการใช้ลดลง 9.9 % ภาคครัวเรือนมีการใช้ลดลง 5.9 %
ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 8.5 % โดยลดลงทุกสาขา ทั้งการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ หรือ NGG ลดลง 28.8 % การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลง 0.3 % การใช้ไฟฟ้า ลดลง 3.9 %
ส่วนแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563 สนพ. คาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวลดลงในช่วง -5 % ถึง -6 % จะส่งผลให้การใช้พลังงานขั้นต้นในปีนี้ ลดลง 5.3 % โดยคาดการณ์ว่าการใช้พลังงานจะลดลงเกือบทุกประเภท โดยการใช้น้ำมันลดลง 14.2 % การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 5.4 % การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 1.0 ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้า
ในปี 2563 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน
แต่หากเศรษฐกิจในปีนี้ปรับตัวลดลงรุนแรงถึง -9% ถึง -10% คาดว่าจะส่งผลให้การใช้พลังงานของประเทศลดลง 7.9 % โดยการใช้น้ำมันเบนซินลดลง 6.3 % การใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 4% การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 43.5 % การใช้ LPG ลดลง 10.9 % การใช้น้ำมันเตาลดลง 10% และการใช้ไฟฟ้าลดลง 3%
13 ส.ค. 2563
18 ส.ค. 2563
14 ส.ค. 2563
17 ส.ค. 2563