ปตท. จำกัด (มหาชน)

Last updated: 11 ส.ค. 2563  |  485 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปตท. เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 54,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,823 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.4 จากไตรมาส 1 ปี 2563 โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนเป็นผลมาจากการวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีค่าเสื่อมราคาและภาษีเงินได้ลดลงส่งผลให้มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 12,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100 จากขาดทุนสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2563 จำนวน 1,554 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 86,593 ล้านบาท ลดลง 67,734 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.9 จากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งนำไปสู่มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 เป็นจำนวน 10,499 ล้านบาท ลดลง 44,751 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.0 จากในครึ่งแรกของปี 2562

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ยังคงไว้ซึ่งภารกิจหลักด้านความมั่นคงทางพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน ในด้านการบริหารองค์กร กลุ่ม ปตท. ได้ประเมินผลกระทบและติดตามสถานการณ์ พร้อมวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผ่านศูนย์ PTT Group Vital Center ด้วยแนวคิด 4 R’s เริ่มจาก Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร ลด-ละ-เลื่อน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยคาดว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกลุ่ม ปตท. ในปี 2563 ได้ 10%-15% พร้อมทั้งจัดความสำคัญของโครงการลงทุน Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาความสามารถทางการแข่งขัน Re-imagination เตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งการเติบโตในธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ และ Reform พิจารณาปรับเปลี่ยนโดยจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีนโยบายในการบริหารการเงินอย่างเคร่งครัด ทั้งการรักษาสภาพคล่องและความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่ม ปตท. โดยในช่วงที่ผ่านมา ปตท. ได้เสนอขายหุ้นกู้จำนวน 3 ครั้ง เพื่อใช้ในการลงทุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนด ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีและสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งเป็น การออกหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐ อายุ 50 ปี วงเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งการออกหุ้นกู้ของ ปตท. ครั้งนี้ ถือเป็นการออกหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐอายุ 50 ปี ครั้งแรกที่ออกโดยบริษัทในกลุ่ม Asia and Emerging Markets อีกส่วนคือการออกหุ้นกู้สกุลบาท เสนอขายให้กับนักลงทุนในประเทศ ทั้งนักลงทุนทั่วไป นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้ รวมการออกหุ้นกู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือกรีนบอนด์ จำนวน 2,000 ล้านบาทด้วย ซึ่ง ปตท. ถือเป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่เสนอขายกรีนบอนด์ให้กับนักลงทุนทั่วไป และกรีนบอนด์ของ ปตท. ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่ได้รับ Certification ด้านอนุรักษ์ป่าจาก Climate Bond Institution (CBI) เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย

ในด้านการมีส่วนร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย กลุ่ม ปตท. ร่วมเคียงข้างคนไทยสู้ภัยโควิด-19 โดยสนับสนุนการดำเนินงานสู้ภัยโควิด-19 คิดเป็นมูลค่ารวม 851 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน โดยสนับสนุนส่วนลดราคา LPG แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ ลดราคาขายปลีกเอ็นจีวี (NGV) ให้กับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 659 ล้านบาท
- สนับสนุนด้านงานวิจัยพัฒนา และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันและเจลแอลกอฮอล์ แก่บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานด้านสาธารณสุข รวมถึง การบริจาคเงินแก่โรงพยาบาล คิดเป็นมูลค่า 192 ล้านบาท แบ่งเป็น การสนับสนุนแอลกอฮอล์แก่องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาล หน่วยงานราชการต่างๆ และประชาชนทั่วไป จำนวน 750,000 ลิตร บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และ ระดมความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและเทคโนโลยี สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ พัฒนาผลิตจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและลดการสัมผัส ประกอบด้วย เสื้อกาวน์ทางการแพทย์ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ห้องตรวจโรคแรงดันบวก กล่องหัตถการแรงดันลบ ชุดป้องกันแรงดันบวกและอุปกรณ์ หน้ากากอนามัยและแผ่นอะคริลิกป้องกัน เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจน ตู้ฆ่าเชื้อโรค CoviClear สนับสนุนการวิจัยพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงแบบการตรวจจับสารทางพันธุกรรม เพื่อการตรวจรักษา พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบรวดเร็ว มูลค่า 9.5 ล้านบาท และ ร่วมพัฒนาอุปกรณ์เก็บตัวอย่างเชื้อที่มีประสิทธิภาพ (Micro-SWAB) โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันนวัตกรรม ปตท. บริษัท PTT Energy Solutions (PTTES) และมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันอยู่ระหว่าง Clinical Test เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง เป็นต้น

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 และราคาน้ำมันตกต่ำในรอบเกือบ 30 ปี จนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและผู้ประกอบการทั่วไป ปตท. ยังคงยึดหลักการบริหารจัดการที่เน้นการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาสภาพคล่องและความแข็งแกร่งทางการเงิน พร้อมดำเนินตามนโยบาย “Powering Thailand’s Transformation” เพื่อเคียงข้างคนไทย และขอเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศให้ข้ามพ้นทุกการเปลี่ยนแปลงไปด้วยดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้