ปตท. จำกัด (มหาชน)

Last updated: 18 ส.ค. 2563  |  940 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปตท.คาดรายได้ปีนี้ อาจไม่ดีเท่าปีก่อน จากผลกระทบโควิด



นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ทั้งปี ยังปรับตัวได้ไม่ดี ทำให้คาดว่ารายได้ในปีนี้ของปตท.อาจไม่ดีเท่ากับปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะค่อยๆเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากการที่หลายๆประเทศได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับจะไม่ค่อยมีการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันในช่วงปีหลัง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ ปตท. จึงได้วางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจัดตั้งศูนย์ PTT Group Vital Center เพื่อรักษาเสถียรภาพมั่นคงทางพลังงาน ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี

ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 2/2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,053 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ จำนวน 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อย ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 เป็นจำนวน 10,499 ล้านบาท ลดลง 44,751 ล้านบาท จากในครึ่งแรกของปี 2562 ทั้งนี้ ในปี 2562 กลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้ให้รัฐทั้งในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้จำนวน 70,259 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2544-2562 นำส่งรายได้ให้รัฐทั้งในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้รวมประมาณ 9.6 แสนล้านบาท

ด้านทิศทางธุรกิจและแผนการลงทุน กลุ่ม ปตท. ได้ออกแบบธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจปัจจุบันและโอกาสธุรกิจใหม่ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานระยะยาวด้วยการขยายธุรกิจไปสู่การประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร เพื่อไปสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวของโลก ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการพลังงาน (Smart Energy Platform) และ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ร่วมกับพันธมิตร ได้ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ แล้ว 2 แห่ง คือ ทรู ดิจิทัล พาร์ค และ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค รวมถึงมีแผนขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ ที่มีศักยภาพต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้