บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

Last updated: 3 มี.ค. 2564  |  582 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

BPP คาดในปีนี้จะปิดดีลโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 โรง

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ขณะนี้ BPP อยู่ระหว่างการทำ Due diligence โครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว่า 1,000 เมกะวัตต์ต่อโรง จำนวน 2 ดีล โดยคาดว่าภายในครึ่งปีแรกปีนี้จะสรุปผลได้ 1 โครงการ ซึ่งการเข้าไปศึกษาโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐฯ เป็นการเข้าไปลงทุนสร้าง Synergy กับกลุ่มบ้านปู ที่ได้เข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซฯ ในมลรัฐเพนซินเวเนีย และกำลังอยู่ระหว่างทำ Due diligence โครงการที่มีการใช้เทคโนโลยี High Efficiency, Low Emissions (HELE) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการผลิตไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้รับรู้รายได้ทันที อีก 2 โครงการ เป็นการเข้าไปร่วมทุนกับรายอื่น ซึ่งโครงการนี้ก็จะอยู่ในประเทศที่ทางกลุ่มบ้านปูได้เข้าไปลงทุนอยู่แล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีการทำ Due diligence โครงการพลังงานสะอาด เพื่อที่จะเพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดมากขึ้นผ่าน บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด อีกหลายโครงการ ซึ่งตั้งเป้าไว้อีก 200-300 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบ้านปูตั้งยืนยันเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,856 เมกะวัตต์เทียบเท่า เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ในอีก 5 ปีข้างหน้า BPP จะเดินหน้าด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.ผนึกพลังร่วมภายในกลุ่มบ้านปู ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ในการเข้าถึงเทคโนโลยี ฐานลูกค้าและคู่ค้า และแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านพลังงานอย่างไร้รอยต่อ เช่น การต่อยอดธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศที่มีศักยภาพ 2.มุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูง โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วที่สามารถสร้างกระแสเงินสดทันที กับการลงทุนในโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (Brownfield) และ 3.ผลักดันการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่ๆ และนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนากระบวนการผลิตไฟฟ้าของบ้านปู เพาเวอร์ต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2563 BPP ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 427 เมกะวัตต์ ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้ จากทั้งการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ ยามางาตะ (Yamagata) และยาบูกิ (Yabuki) การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) ในเวียดนาม ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และการก่อสร้างแล้วเสร็จของโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ โดยในปัจจุบัน SLG อยู่ในระหว่างการทดสอบความพร้อมเพื่อเตรียมการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ โดยหน่วยผลิตที่ 2 ได้เริ่มจ่ายไอน้ำให้ชุมชนเมืองฉางจื้อ (Changzhi) ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมk

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าในปี 2564 ตามแผน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคนเซนนุมะ (Kesennuma) และชิราคาวะ (Shirakawa) ในญี่ปุ่น กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์

บ้านปู เน็กซ์ ยังมีแผนการขยาย Energy Trading ซึ่งมีเป้าหมายจะทำเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี จากปัจจุบัน 280 เมกะวัตต์ โดยการทำในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะขยายไปยังประเทศสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ที่มีการเปิดให้มีการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดได้

ส่วนการทำตลาดแบตเตอรี่ของ บริษัท ดูร่า พาวเวอร์ บริษัทร่วมทุน จะขยายฐานลูกค้าในประเทศจีนเพิ่มขึ้น และจะขยายไปในประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก โดยตั้งเป้าหมายจาก 1 กิ๊กกะวัตต์ชั่วโมง เป็น 3 กิ๊กกะวัตต์ชั่วโมง ภายใน 5 ปี
ส่วนผลกระทบจากการที่ บริษัท EDL ประสบปัญหาทางการเงิน ในส่วนของบ้านปูได้รับผลกระทบน้อยมาก ซึ่งทาง EDL ยังมีการจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับบริษัทฯ แต่มีการจ่ายเงินกีบมาบางส่วนซึ่งเป็นส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้