ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

Last updated: 20 เม.ย 2564  |  385 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ราช กรุ๊ป ติดตั้งโซลาร์ 2 MW บนอ่างเก็บน้ำโรงไฟฟ้าราชบุรี
เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนช่วงหยุดเดินเครื่อง พร้อมช่วยลดก๊าซเรือนกระจกปีละ 1,774 tCO2e

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้น สภาพอากาศที่แปรปรวนจนเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภาวะอุทกภัย ภาวะภัยแล้ง ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อโลกและเราทุกคน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูงในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติใช้ได้ไม่มีวันหมดด้วย สำหรับประเทศไทยเองถือว่ามีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง ด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรทำให้ได้รับแสงแดดค่อนข้างคงที่ตลอดทั้งปี โดยค่าความเข้มรังสีรวมรายวันเฉลี่ยต่อปีโดยเฉลี่ยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่ามีค่าเท่ากับ 18.0 เมกะจูล/ตารางเมตร-วัน (MJ/m2-day) หรือ 5 กิโลวัตต์/ชั่วโมง/ตารางเมตร-วัน (kWh/m2-day) นับได้ว่าประเทศไทยมีพื้นที่รับพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งเพียงพอสำหรับการพัฒนาในการผลิตไฟฟ้า แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไม่หยุดยั้งทำให้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถดำเนินการบนทุกพื้นที่ แม้กระทั่งบนผิวน้ำ หรือที่รู้จักกันว่า โซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไร้ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ร่วมกันพัฒนา “โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ” (Solar Floating Project) ในโรงไฟฟ้าราชบุรี เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กรในมิติสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ นอกเหนือจากมิติเศรษฐกิจด้วย

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของโครงการฯ ว่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 2 หน่วยกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,470 เมกะวัตต์ ถูกสั่งเป็นกำลังผลิตสำรอง หรือ Reserved Shutdown จึงต้องหยุดเดินเครื่องจนกว่าจะมีคำสั่งให้ผลิตไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้ายังต้องการไฟฟ้าให้กับระบบต่างๆ ของโรงไฟฟ้า รวมทั้งอาคารปฏิบัติงานต่างๆ จึงต้องมีการใช้ไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และยังทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อม (Scope 2) ของโรงไฟฟ้าราชบุรียังเพิ่มขึ้นอีกด้วย โรงไฟฟ้าราชบุรีจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงไฟฟ้า โดยพิจารณาพื้นที่อ่างเก็บน้ำดิบที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว้างถึง 200 ไร่ โครงการนี้ได้เริ่มศึกษาศักยภาพค่าความเข้มรังสีรวมรายวันเฉลี่ยต่อปีในพื้นที่เมื่อปี 2561 โดยค่าอยู่ที่ 1,793 กิโลวัตต์ต่อตารางเมตร และได้ดำเนินการก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบระบบ และได้รับใบอนุญาตการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม 2564

โครงการฯ ดังกล่าวใช้เงินลงทุน 78 ล้านบาท มีขนาดกำลังการผลิต 2.138 เมกะวัตต์ โดยได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Photovotaic Module) ชนิด Polycrystalline ขนาด 330 วัตต์ จำนวน 6,480 แผง บนผิวน้ำของอ่างเก็บน้ำดิบใช้พื้นที่ 14 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำดิบทั้งหมด ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ปีละ 3,121,500 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จากกำลังการผลิตติดตั้ง ปัจจุบันกระแสไฟฟ้าจากโครงการได้นำไปใช้ในอาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำ อาคารคลังพัสดุ อาคารสำนักงาน อาคารฝึกอบรม อาคารปฏิบัติการ รวมทั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะด้วย

“โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยโรงไฟฟ้าราชบุรีสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 9.96 ล้านบาท ที่อัตราค่าไฟฟ้า 3 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ขณะเดียวกันปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังลดลงได้ประมาณปีละ 1,774 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งส่งผลดีต่อชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนผิวน้ำ ยื่นจดทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ประเภทพลังงานทดแทน กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 โครงการฯ ประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศลดลงได้ 1,774 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และตลอดระยะเวลา 7 ปี (2563-2570) ของโครงการฯ ลดลงได้ 12,418 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการนี้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจาก อบก. ในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ประจำปี 2562 ซึ่งมอบให้แก่องค์กรที่ตระหนักถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมุ่งมั่นส่งเสริมการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ถือเป็นรางวัลแห่งความภูมิใจที่สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของบริษัทฯ และเป็นกำลังใจให้เราพัฒนาโครงการอื่นๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเจริญเติบโตไปพร้อมกับสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายกิจจา กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้