ปตท. จำกัด (มหาชน)

Last updated: 12 พ.ค. 2564  |  753 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปตท. พร้อมแข่งขันในธุรกิจก๊าซฯ หลังเปิดเสรี

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรับโครงสร้างธุรกิจพร้อมรองรับการแข่งขันในตลาดเสรี โดยจะธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ครบวงจร คาดว่าปีนี้จะมีการนำเข้า LNG ได้กว่า 1 ล้านตัน อีกทั้งคาดการณ์ว่าในปีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะใกล้เคียงกับปี 2562 และเตรียมเข้าสู่ธุรกิจ F&B ผ่านการทำตลาดของ Harumiki ผลิตภัณฑ์จากสตอเบอรี่ที่ปลูกได้จากความเย็นของ LNG คาดว่าจะเปิด Harumiki House สาขาแรกกลางปี 2564

เริ่มจากการแยกสายงานธุรกิจ
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย โดยล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ซึ่งจะเปิดให้บริษัทเอกชนรายอื่นที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ Shipper นำเข้า LNG ได้ ซึ่ง ปตท. พร้อมเข้าสู่การแข่งขันในตลาดก๊าซฯ เสรี โดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานไปสู่การเป็น Regional LNG Hub ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การการค้า LNG ในภูมิภาคนี้

ที่ผ่านมา ปตท. มีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานในธุรกิจก๊าซฯ โดยปรับโครงสร้างสายงานทางธุรกิจแยกส่วนของ Regulate Market กับ Commercial ออกจากกันอย่างชัดเจน ในส่วนของลูกค้าที่มีในปัจจุบันตามสัญญาระยะยาวในการนำเข้า LNG ประมาณ 5.2 ล้านตัน ซึ่ง ปตท.มีลูกค้าเดิมอยู่ก็จะดำเนินการต่อ ส่วนลูกค้าใหม่ก็จะเปิดให้มีการนำเข้า LNG ได้ โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อก๊าซฯ จากที่เป็น LNG นำเข้า หรือจากตลาดรวม (Pool Gas) ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

ทำตลาด LNG เชิงพาณิชย์
ในปีที่ผ่านมา ปตท. ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยเริ่มทำการทดสอบทางเทคนิคต่าง ๆ แล้ว และมีการทดสิบเชิงพาณิชย์ ซึ่งกำลังเข้าสู่ตลาดต่าง ๆ โดยจะต้องดูสภาพตลาด และราคาที่เหมาะสม ซึ่งมีการทดลองส่งออก LNG ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบ Iso Tank และทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกไปประเทศกัมพูชา เพราะตลาดยังมีความต้องการ ส่วนในประเทศจีนมีการส่งออกแต่ไม่มากนัก เนื่องจากยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนประเทศเมียนมายังเป็นตลาดที่น่าสนใจ จึงยังมองโอกาสอยู่

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ราคา LNG ในตลาดโลกมีราคาสูงมาก จึงได้มีการนำ LNG จากสัญญาระยะยาวไปขายในต่างประเทศ ทำให้เกิดประโยชน์จากการขายเป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนั้นได้มีการส่งคืนเข้าระบบไปลดราคาก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า ยังมีการนำเข้า LNG จากตลาดจร (Spot) เข้ามาในช่วงที่มีราคาต่ำ โดยนำเข้าจากตลาดจรในปีที่ผ่านมามีราคาเฉลี่ยเพียง 2.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง โดย ปตท. ได้พยายามบริหารในเรื่องการจัดหา นำเข้า และส่งออก ให้มีประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด

โดยสัญญาระยะยาวที่มีอยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี ทั้งหมด 4 สัญญา ทุกฉบับทำให้มีช่วงเวลาใกล้เคียงกันหมด และราคา LNG ของสัญญาระยะยาววันนี้ก็ใกล้เคียงกับ Pool Gas ส่วนราคา Spot LNG ส่งมอบเดือนมิถุนายน 2564 ประมาณ 10 เหรียญต่อล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าสัญญาระยะยาวในขณะนี้

ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในปีนี้
สำหรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะใกล้เคียงกับปี 2562 โดยในไตรมาส 1 ปีนี้ ความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยประมาณ 4,600 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 7-8% โดยในปี 2563 ที่มีการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,300-4,400 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน

ส่วนในไตรมาส 2 นี้ ช่วงเดือนเมษายน การใช้ก๊าซฯ ลดลง แต่ยังไม่แน่ใจว่ามีสาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ เพราะในช่วงเดือนนี้เป็นช่วงที่มีวันหยุดเยอะ ดังนั้น ปตท. กำลังประเมินผลกระทบจากโควิด-19 ก่อน โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวและการบริการ อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ในส่วนของการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมยังเติบโตได้ดี

ประเทศไทยอาจจะต้องนำเข้า LNG ถึง 1 ล้านตันในปีนี้
จากข้อมูลของ ปตท. มีการคาดการณ์ว่า ภาพรวมความต้องการใช้ LNG รวมในปีนี้ จะอยู่ที่ 6-6.5 ล้านตัน ดังนั้น จะมีส่วนเกินจากสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน ที่ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นการนำเข้าจากผู้นำเข้ารายอื่น อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าที่ชัดเจนจะเป็นเท่าไร ขึ้นอยู่กับการหารือของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กกพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. ที่จะพิจารณาร่วมกัน โดยคาดว่าจะนำเข้า LNG ได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ส่วนไตรมาส 4 อาจดำเนินการได้ยาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ต่างประเทศมีความต้องการใช้ก๊าซฯ สูง อาจส่งผลต่อราคา Spot LNG

ความร่วมมือกับพันธมิตรยังเดินหน้า
สำหรับความร่วมมือกับ กฟผ. ในธุรกิจก๊าซฯ กพช. มีมติให้ ปตท. และ กฟผ. ร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างคลังรับจ่ายและแปรสภาพก๊าซฯ (LNG Terminal) ที่หนองแฟบ จ.ชลบุรี ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% ซึ่ง ปตท. และ กฟผ. ยังได้มีการศึกษาร่วมกันในการทำโครงการ LNG Terminal ในภาคใต้ ที่ กฟผ. จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการใช้ LNG ประมาณ 3-5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะต้องมีการขออนุมัติโครงการภายในปีนี้หรือปีหน้า

สำหรับความร่วมมือกับ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ก็มีความร่วมมือในการส่งออกก๊าซไปในตลาดจีน และยังมองหาโอกาสในการทำตลาดอื่น ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในการมองโอกาสในการขยายธุรกิจก๊าซฯ ร่วมกัน ซึ่งทางบ้านปูได้เข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซฯ ปตท. ก็มองโอกาสในการลงทุนใน LNG แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

เดินหน้าลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายวุฒิกร กล่าวถึงการลงทุนของกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ในปีนี้ว่า จะมีการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ แห่งใหม่ (แห่งที่ 7) เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 1 คาดว่าจะลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566-2567 โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) เงินลงทุนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568 โครงการก่อสร้าง LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) เงินลงทุนประมาณ 3.85 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565 และการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 5 เงินลงทุนประมาณ 1.72 หมื่นล้านบาท

ปตท. ลุย EV ในปั๊ม NGV
นายวุฒิกร ยังได้พูดถึงการนำสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) มาปรับรูปแบบรองรับกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมา โดยจะเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในสถานีบริการ NGV เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถแท็กซี่ ที่เป็นลูกค้าอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้เริ่มปรับมาเป็น EV Taxi บ้างแล้ว จะเริ่มดำเนินการที่สถานีบริการ NGV ที่กำแพงเพชร 2 เป็นที่แรก โดยในสถานีบริการ NGV จะมีสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ ปตท. เช่น ร้านไอศรีม กะทิสด สเตชั่น มีการบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าจะปรับรูปแบบสถานี NGV ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อนจำนวน 10 สถานี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนขยายเพิ่มเติม ปัจจุบัน ปตท. มีสถานีบริการ NGV ประมาณ 300-400 แห่ง

Harumiki House กำลังจะมา
สตรอว์เบอร์รี่ ซึ่ง ปตท. ปลูกได้จากความเย็นของ LNG ที่ชื่อ Harumiki กำลังเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ ปตท. จะทำการตลาด โดยเตรียมเปิดร้านฮารุมิกิ เฮาส์ (Harumiki House) สาขาแรกที่ ปตท.สำนักงานใหญ่ ซึ่งจะร้านจัดจำหน่ายเครื่องดื่มและเบเกอรี่ ซึ่งจะมีสตรอว์เบอร์รีสด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เครื่องดื่ม ขนม ครีมทามือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ที่ทำจากสตรอว์เบอร์รี่ เป็นต้น คาดว่าจะเปิดสาขาแรกในช่วงกลางปี 2564 นี้ และสาขา 2 ที่ พีทีที สเตชั่น สาขามาบข่า จ.ระยอง

ทั้งหมดนี้เป็นการปรับตัวของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. เพื่อรองรับการแข่งขันเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ ปตท. มีความพร้อมในทุกด้านและยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ ปตท. รวมทั้งยังต้องการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้มากที่สุด มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ปตท. และยังมองเห็นทิศทางการดำเนินธุรกิจก๊าซฯ ที่วันนี้ไม่เพียงแต่จะทำธุรกิจหลักเท่านั้น แต่ยังต้องมีการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่หลากหลาย จึงเชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นการทำธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท. ในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และครบวงจรมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้