พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

Last updated: 3 มิ.ย. 2564  |  752 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

GC ประสบความสำเร็จดึง เนเชอร์เวิร์คส์ ลงเมืองไทย

หลายปีที่ผ่านมา บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พยายามทุกช่องทางในการดึง บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ มาตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพแบบย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ชนิด PLA ในประเทศไทย ทั้งการวางแผนประสานภาครัฐ ในการให้การส่งเสริมการลงทุน และการตั้งโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการตั้งโรงงาน จนประสบความสำเร็จในวันนี้ เป็นการยืนยันว่า GC จะเดินหน้าต่อไปในการที่จะส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทาง BCG (Bio-Circular- Green Economy)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ในกิจการผลิต Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใส่อาหารเพื่อการบริโภค ถุงชา แคปซูลกาแฟ และบรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยใช้ในงานพิมพ์ชิ้นงาน 3 มิติ เส้นใยที่ใช้ผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาดหน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิต PLA ถึงปีละ 75,000 ตัน มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และยังใช้น้ำมันตาลถึง 110,000 ตัน/ปี ซึ่งเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศในการผลิต

โดยโครงการจะตั้งอยู่ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย สอดคล้องกับแนวทาง BCG (Bio-Circular- Green Economy)

ย้อนเส้นทางความสำเร็จที่กว่าจะได้มานี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2555 ที่ GC มองหาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และการทำพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) ก็ตอบโจทย์ความยั่งยืนของ GC ประกอบกับการที่ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก ที่มีโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) โดยใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิต ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจนี้ และกำลังมองหาพื้นที่ตั้งโรงงานแห่งที่ 2 นอกประเทศสหรัฐอเมริกา GC จึงได้เข้าร่วมทุนกับ เนเชอร์เวิร์คส์ ในสัดส่วน 50% จัดตั้ง บริษัท เนเชอร์เวิร์ค เอเชียแปซิฟิค จำกัด

ทำให้ GC และ เนเชอร์เวิร์ค เอเชียแปซิฟิค เป็นผู้จัดจำหน่ายไบโอพลาสติกชนิด PLA ภายใต้แบรนด์ Ingeo ให้กับ แดรี่โฮม เป็นลูกค้ารายแรกในเอเชีย ที่ให้ผลิตถ้วยโยเกิร์ตไบโอพลาสติก และผลิตขวดเครื่องดื่มและแก้วกาแฟให้กับร้านคาเฟ่ อเมซอน

ในระหว่างนั้น GC ในฐานะผู้ถือหุ้น 50% พยายามเจรจากับเนเชอร์เวิร์คส์ เพื่อจะดึงแผนลงทุนก่อสร้างโรงงาน PLA เข้ามาตั้งในประเทศไทย ซึ่งมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 นอกประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นอ้อยและมันสำปะหลัง แต่ติดปัญหาทางการเมืองภายในประเทศไทยที่ยังไม่นิ่ง และทาง เนเชอร์เวิร์ค เอเชียแปซิฟิค จะตัดสินใจลงทุนโครงการพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย หากได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการส่งเสริมการลงทุนจากทางภาครัฐ

สำหรับโครงการโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แห่งที่ 2 จะมีกำลังการผลิต 1.4 แสนตัน/ปี แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก มีกำลังการผลิต 7.5 หมื่นตัน/ปี ในระยะแรกจะส่งออกประมาณ 90% ของกำลังการผลิต ส่วนเฟสที่ 2 คาดว่าจะดำเนินการในอีก 3-5 ปีหลังจากนั้น ขยายกำลังการผลิตอีก 7.5 หมื่นตัน/ปี

GC ยังมีความพยายามต่อในเรื่องนี้ โดยได้จัดตั้ง บริษัท โกลบอล กรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เพื่อมาร่วมทุนกับ บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ทำโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ที่จะมีการลงทุน 2 เฟส เฟสแรก จะสร้างโรงหีบอ้อย โรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้า ส่วนเฟสที่ 2 จะต่อยอดเอทานอลสู่อุตสาหกรรมไบโอเคมิคอลและไบโอพลาสติก และได้มการเชิญผู้บริหารของเนเชอร์เวิร์ค เข้ามาดูพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของกลุ่ม KTIS ที่สามารถจัดหาอ้อยได้มากถึง 10 ล้านตัน/ปี เทียบกับความต้องการใช้อ้อยในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 1 อยู่ที่ 2.5 ล้านตัน/ปี สร้างความมั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบใช้ในโรงงานได้อย่างเพียงพอ

จนมาถึงวันนี้ยาวนานมากว่า 9 ปี เนเชอร์เวิร์ค ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ ชนิด PLA ในประเทศไทย ถือเป็นการประสบความสำเร็จหลังจากมีการเจรจากันมายาวนาน ซึ่งหากโรงงานทั้งสองแห่งเกิดขึ้น จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไบโอพลาสติกที่ใหญ่สุดในโลก

ที่สำคัญอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปมีนโยบายลดการใช้พลาสติกทั่วไป สอดคล้องกับ GC ที่มองเห็นโอกาสที่จะลงทุนพัฒนาพลาสติกชีวภาพ ซึ่งมีการเติบโตประมาณปีละ 20-30% ขณะที่ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทั่วไปเติบโตปีละ 5-10% และประเทศไทยเองยังได้ส่งออกเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนด้วย ปิดฉากลงด้วยความสำเร็จได้อย่างงดงาม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้