ปตท. จำกัด (มหาชน)

Last updated: 22 มิ.ย. 2564  |  480 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จำกัด (มหาชน)

กทม. จับมือ ปตท. จัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ รุกคลัสเตอร์ใหญ่
พร้อมระดมจิตอาสา ปตท. เข้าร่วมฟื้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เคลื่อนที่ (Mobile Vaccine Unit) เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหาร ปตท. ร่วมตรวจเยี่ยม

“หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” มีภารกิจสำคัญในการมุ่งฉีดวัคซีนให้แก่ชุมชนพื้นที่ กทม. ที่มีการระบาด COVID-19 แบบกลุ่มก้อน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้พิการในชุมชน รวมทั้งกลุ่มแรงงานในพื้นที่ที่อาจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากหรือมีความลำบากในการลงทะเบียนรับวัคซีน ทั้งนี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยหยุดยั้งการระบาดได้เร็วขึ้น และสอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการเร่งการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนครอบคลุมทุกภาคส่วนในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2564

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกนี้ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งของ กทม. เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับสูง และมีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ในชุมชนที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นหรืออยู่ในแคมป์คนงานต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแคมป์คนงานในพื้นที่เขตหลักสี่ถือว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร่งด่วน การดำเนินงานนี้จึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ กทม. ที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็ว สำหรับหน่วยฉีดวัคซีนในลักษณะนี้จะเคลื่อนย้ายจุดไปทั่วพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ กทม. ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ขอขอบคุณ ปตท. ที่เป็นหน่วยงานเอกชนรายแรกในการเข้ามาช่วยสนับสนุนจุดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบครบวงจร

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. กับ กทม. ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเร่งปูพรมกระจายฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และเข้าถึงทุกคน ทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายของภาครัฐ พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อีกทั้งได้ระดมพนักงานจิตอาสา ปตท. สนับสนุน กทม. ในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เสี่ยง ทั้งในเขตหลักสี่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดินแดง และเขตคลองเตย รวมทั้งผนึกความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพ มุ่งหวังฟื้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท.

“กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมวางระบบงานดิจิทัล และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการปฏิบัติการเชิงรุกครั้งนี้ และสนับสนุนพนักงานกลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นจิตอาสาในส่วนของการทำงานกับหน่วยบริการ ช่วยบริหารจัดการคิวผู้เข้ารับวัคซีน ประสานงาน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังได้ร่วมสนับสนุนอาหาร น้ำดื่มแก่เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยต่าง ๆ อีกทั้งจัดเตรียมสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากโครงการ ‘ชุมชนยิ้มได้’ ที่ ปตท.ได้ส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคเกษตรกร มอบให้กับประชาชนที่มาฉีดวัคซีนอีกด้วย โดยหวังว่า ปตท. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้าถึงวัคซีนอย่างเร่งด่วน อันจะช่วยยับยั้งการระบาดของ COVID-19 และช่วยขับเคลื่อนต่อลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็วต่อไป” นายอรรถพล กล่าว

ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในการรับมือภาวะวิกฤต COVID-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท โดยระดมสรรพกำลังความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. ในการสนับสนุนงานวิจัยสู้ภัย COVID-19 อาทิ ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) หมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อความดันบวก (PAPR) การสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาชุดตรวจคัดกรองและการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19 สนับสนุนแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ อีกทั้งจัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน มูลค่า 200 ล้านบาท โดยเร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 70 โรงพยาบาล จำนวน 360 เครื่อง รวมไปถึงการสนับสนุนกล่องพลังใจ สู้ภัย COVID-19 อาหาร น้ำดื่ม แก่โรงพยาบาลสนาม กทม. และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งได้มอบถุงยังชีพและอาหารจากสมาคมภัตตาคารไทยแก่ชุมชนคลองเตย และล่าสุด ได้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ต่อไป อีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดต้นทุนค่าครองชีพ และต่อลมหายใจเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

กลุ่ม ปตท. ขอเป็นกำลังใจและเคียงข้างสังคมไทย ด้วยลมหายใจเดียวกัน เพื่อให้คนไทยและประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้