มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด

Last updated: 28 ก.ย. 2565  |  1072 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด

มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ตั้งเป้าปี 2025 จะใช้ไฮโดรเจนในกังหันก๊าซให้ถึง 100%

มิตซูบิชิ พาวเวอร์ แบรนด์โซลูชันด้านพลังงานของ บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการโซลูชันโรงไฟฟ้า (Power Plants Solutions) กังหันก๊าซ (Gas Turbines) กังหันไอน้ำ (Steam Turbines) และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)

ข้อมูลจาก มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ระบุว่า “เรากำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานในเอเชียแปซิฟิก” หรือ “We are driving the energy transition in Asia Pacific” ซึ่งแผนสำหรับการเติบโตและการลดคาร์บอน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 1.เพิ่มความยืดหยุ่นของระบบผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่เพื่อปูทางสู่พลังงานหมุนเวียน 2.การลดคาร์บอนในระบบผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ และ 3.การขยายกำลังการผลิตสำหรับโซลูชันพลังงานคาร์บอนต่ำและไม่มีคาร์บอน

มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ในเอเชียแปซิฟิก เริ่มโครงการแรกในประเทศบังกลาเทศ ปี 1960 ข้อมูล ณ เม.ย. 2022 มีการให้บริการ 147 Gas Turbines 296 Steam Turbines และ 161 Boiler ในภูมิภาคนี้ มีการซัพพลายไฟฟ้ากว่า 75,000 เมกะวัตต์ โดยมีการลงทุนใน บังกลาเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม บรูไน และนิวซีแลนด์

คุณทาคาโอะ สึกุอิ รองประธานบริหาร ฝ่ายขายและการตลาดระหว่างประเทศ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ได้พูดถึงแผนการลงทุนด้านพลังงานว่า ในเอเชียก็จะทำงานด้านการลดคาร์บอน ดังนั้น แผนงานทุกอย่างก็จะมุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนโดยเฉพาะในประเทศไทย ประเด็นที่สำคัญคือการใช้ไฮโดรเจนนำไปสู่สังคมที่มีคาร์บอนต่ำ ก็เลยมีการลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ ที่คาร์บอนต่ำ เช่น กังหันก๊าซ เป็นต้น

ซึ่งการจะซัพพลาย Clean Energy นั้น เราทราบว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่สำคัญ หลายประเทศพยายามสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกันพลังงานหมุนเวียนก็อาจจะไม่ได้สร้างพลังงานไฟฟ้า ณ เวลาที่เราต้องการ ไฮโดรเจนเป็นทางออกของพลังงานหมุนเวียน โดยไฮโดรเจนเข้ามามีความสำคัญที่จะทำให้การผลิตพลังงานหมุนเวียนได้อย่างเพียงพอ และยังสามารถสร้างไฮโดรเจนจากพลังงานสะอาดได้ วันนี้ก็สามารถใช้กังหันเข้ามาผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้พลังงานไฮโดรเจนมากขึ้น การใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ไม่ต้องรอถึงอนาคต ตอนนี้เรามีโครงการในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการสร้างไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งถูกนำมาใช้โดยกังหันก๊าซ แต่โครงการนี้ในสหรัฐอเมริกา ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐ เพื่อเป็นการกระตุ้นแล้วก็สนับสนุนโครงการนี้ ดังนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญมาก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานในประเทศต่างๆ

มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ยังได้ทำโครงการทากาซาโงะ ไฮโดรเจน พาร์ค (Takasago Hydrogen Park) ศูนย์ทดสอบเทคโนโลยีด้านไฮโดรเจนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการที่ตอนนี้กำลังก่อสร้าง ตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของโอซาก้า ถือว่าเป็น Head Quarter หรือสำนักงานใหญ่ ในการผลิตกังหันก๊าซ การวิจัยและพัฒนา ซึ่งในไฮโดรเจนพาร์ค มีโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่เรียกว่า T-Point 2 โดยจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนต่างๆ และไฮโดรเจนที่ผลิตได้นี้ ก็ส่งไปที่ T-Point 2 เพื่อใช้ใน Co-Firing โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2024

ปัจจุบันความต้องการใช้ไฮโดรเจนมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย 80% ของลูกค้าของบริษัทเวลาที่สนใจผลิตภัณฑ์ของกังหันก๊าซ ก็ระบุว่าจะต้องใช้กังหันที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนได้ ซึ่งตอนนี้กังหันก๊าซของมิตซูบิชิ พาวเวอร์ สามารถใช้ไฮโดรเจนแล้วถึง 30% ที่เรียกว่าโซลูชันการเผาไหมไฮโดรเจนแบบคู่ หรือ Hydrogen co-firing Solutions เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่เชื้อเพลิงที่สะอาดยิ่งขึ้น และปี 2025 ตั้งเป้าจะใช้ให้ถึง 100%

ส่วนการเข้ามาลงทุนไฮโดรเจนในประเทศไทย มิตซูบิชิ พาวเวอร์ ช่วยซัพพลายพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 25 กิกะวัตต์ ประมาณ 50% หรือครึ่งหนึ่งของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้อยู่ทั้งหมดในประเทศไทย โดยได้เคยทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทกัลฟ์ เอนเนอร์ยี ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทมองว่ามีโอกาสอย่างมากในการเข้ามาลงทุนเพิ่ม ก็จะใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ในการผลิตพลังงานไฮโดรเจน แล้วก็จะมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และโซลูชันต่างๆ ให้แก่ตลาด

จากข้อมูลของ มิตซูบิชิ พาวเวอร์ เริ่มต้นเข้ามาในประเทศไทยในปี 1990-1993 ได้จัดส่งกังหันก๊าซ กังหันไอน้ำ และบอยเลอร์ ให้แก่ เครื่องกำเนิดไอน้ำ (Stream Generators) ในประเทศไทย

ปี 2018 ได้รับคำสั่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับกังหันก๊าซ จำนวน 8 ตัว ในโรงไฟฟ้า GTCC ขนาด 2,650 เมกะวัตต์ สองแห่งในประเทศไทย

ปี 2020 ลงนามในสัญญาแบบเบ็ดเสร็จสำหรับวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกองพาวเวอร์ ขนาด 1,400 เกมะวัตต์ ในประเทศไทย

คุณทากาโอะ ยังได้พูดถึงการทำกรีนไฮโดรเจนว่า เป็นไฮโดรเจนที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน เป็นพลังงานสีเขียว ประเด็นหลักคือ พลังงานหมุนเวียนไม่ได้สร้างพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลาที่เราต้องการ เรายังต้องพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ดังนั้น ตอนที่พลังงานหมุนเวียนถูกสร้างขึ้นมา มันอาจจะไม่ถูกใช้ก็ได้ เราก็อาจจะโยนทิ้งพลังงานส่วนนี้ไป เป็นเหตุผลที่เราผลิตพลังงานสีเขียวขึ้นมา พอเราสามารถสร้างพลังงานหมุนเวียนได้จนเกินกว่าที่ต้องการไปแล้ว ก็เอาส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้มาผลิตเป็นไฮโดรเจนสีเขียว

ส่วนการนำไฮโดรเจนมาใช้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เวลาที่เราพูดถึงพลังงานสะอาด ก็จะมีหลักๆ อยู่ 2 อย่าง คือ พลังงานหมุนเวียน และพลังงานไฮโดรเจน สำหรับไฮโดรเจนก็สามารถนำมาในการสร้างไฟฟ้า การขนส่ง และอุตสาหกรรมต่างๆ เวลาพูดถึงซัพพลายเชนของไฮโดรเจน เราก็พูดถึงการผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ และการนำไปใช้

สำหรับในส่วนของการผลิตและการนำไฮโดรเจนไปใช้ ตอนนี้เทคโนโลยีที่ใช้ในสองด้านนี้มีความก้าวหน้ามาก เป็นเหตุผลที่บอกว่า การใช้เทคโนโลยีหรือพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นแล้ว ณ ตอนนี้ แต่ส่วนของการขนส่งและการเก็บไฮโดรเจนยังเป็นสิ่งที่ท้าทาย และต้องมีการพัฒนา ก็คิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

ในเรื่องต้นทุนการแข่งขันกับพลังงานอื่น เป็นคำถามที่สำคัญมาก แต่ว่าไฮโดรเจนไม่ถือว่าเป็นเชื้อเพลิง แต่ว่าเราควรที่จะนึกถึงเหมือนเป็นแบตเตอรี่ ให้เก็บพลังงานไว้ได้ ไฮโดรเจนก็เช่นเดียวกัน ให้เก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ให้เราใช้เมื่อเราต้องการ ถ้าจะมาเปรียบเทียบต้นทุนของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เราไม่สามารถเปรียบเทียบได้โดยตรง เราควรจะเปรียบเทียบแบบทั้งระบบว่า ทำอะไรให้เราได้บ้าง เช่น ความยั่งยืน หรือความมั่นคงทางพลังงานต่างๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้