ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

Last updated: 8 มี.ค. 2566  |  385 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

ไทยออยล์ มุ่งสู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่ ด้วยแนวคิด TOP for The Great Future

Hilight
•บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัว CEO คนใหม่ เดินหน้าด้วยแนวคิด “TOP for The Great Future” มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างอนาคตที่ยิ่งใหญ่
•สานต่อวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”
•ปรับเป้าหมายสัดส่วนกำไรจะมาจากธุรกิจปิโตรเคมีมูลค่าสูง และธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น งบลงทุน 3 ปี จะลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
•เร่งโครงการพลังงานสะอาดให้เสร็จเร็วกว่าแผน รองรับการผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่ง CEO คนใหม่ของ ไทยออยล์ จะสานต่อวิสัยทัศน์ใหม่ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน” พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิด “TOP for The Great Future” มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพื่อสร้างอนาคตที่ยิ่งใหญ่ โดยตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

โดยมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ สานต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์หลัก 3V คือ
1.Value Maximization ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (HVP)
2.Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค รองรับการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในอนาคต รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น
3.Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง (HVB) และธุรกิจ New S-Curve อื่น ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

ยังได้เสนอแนวคิด “TOP for The Great Future” ขับเคลื่อนธุรกิจให้มั่นใจว่า ไทยออยล์จะบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้ได้อย่างสำเร็จ โดยคำว่า “TOP” มาจาก
T - Transformation ทรานสฟอร์มธุรกิจในทุกมิติ ให้มั่นใจว่า องค์กรพร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหม่ สร้างธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพความสามารถของพนักงานให้รองรับการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ พร้อมทั้งยกระดับนวัตกรรม มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
O - Operational to Business Excellence ยกระดับการทำงานปัจจุบันจาก Operational Excellence ไปสู่ Business Excellence สร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยระบบงานระดับ World Class ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและทีมงานมืออาชีพ สู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ
P - Partnership & Platform สร้างการเติบโตด้วยแนวทางความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจร่วมกัน รวมถึงใช้ประโยชน์สูงสุดจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เข้าถึงธุรกิจใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนการขยายธุรกิจในอนาคต

โดยมีการปรับเป้าหมายธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ในปี 2573 สัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอยู่ที่ 40% ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี 30% ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% จากปัจจุบันสัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 80% ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ 10% และธุรกิจไฟฟ้า 10%

ทั้งนี้ แผนการขับเคลื่อนธุรกิจปี 2566-2573 จะแบ่งเป็น ช่วงปี 2566-2568 ตั้งงบประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 (CAP2) กับบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนที่เหลือใช้สำหรับการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการในประเทศอินเดีย และอินโดนีเซีย

โดยในปี 2566 คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโครงการ CFP ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2568 โดยจะมีการเร่งการก่อสร้างบางหน่วยให้เสร็จก่อนกำหนด คาดว่าหน่วยผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2567 และเมื่อโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะมีกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยออยล์ดีขึ้น เนื่องจากจะไม่มีการกลั่นผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น แต่จะมีการกลั่นน้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และวัตถุดิบปิโตรเคมี (Feed Stock) เพิ่มขึ้น และไม่มีการผลิตน้ำมันเตาในระบบ รวมทั้งจะสามารถนำน้ำมันดิบหนัก (Heavy Crude) ซึ่งมีราคาถูกเข้ามากลั่นในโรงกลั่นได้ จะทำให้ต้นทุนการกลั่นลดลงมาก ส่งผลให้ค่าการกลั่น (GRM) จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

โดยในปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญของไทยออยล์ ที่จะเห็นทิศทางการลงทุนและการเจรจาธุรกิจมากขึ้น รวมทั้งเดินหน้าความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท. และพันธมิตรอื่น ๆ ทั้งการศึกษาเรื่องน้ำมันเครื่องบินชีวภาพ (Bio Jet) ที่มี MOU กับกลุ่ม ปตท. โดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ หากมีความคุ้มค่าการลงทุนก็จะตั้งโรงงานขึ้น

ด้านของ Bio Chem & Bio Plastic ก็กำลังศึกษาการทำ Bio LAB ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังศึกษาในเรื่องของไฮโดรเจน การดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) โดยจะท Blue หรือ Green Hydrogen ซึ่งได้มีการร่วมลงทุนกับ Start Up ทำ Renewable Hydrogen และมีการลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน (CVC) ซึ่งลงทุนไปแล้ว 3 กองทุน จำนวน 6 Start Up ผลิตน้ำมผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ เข็มไบโอให้ยาทางผิวหนัง

นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนในส่วนของการขยายตลาดในประเทศไปสู่ภูมิภาค โดยมีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ของ TOP Solvent ที่มีฐานการตลาดอยู่แล้วเป็น TOP NXT ส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมัน น้ำมันหล่อลื่น สารละลาย และปิโตรเคมี ไปสู่ตลาดหลักใน 3 ประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย และในอนาคตจะขยายไปสู่ระดับโลกมากขึ้น

ส่วนช่วงปี 2569-2573 จะเป็นปีที่ไทยออยล์จะเดินหน้าลงทุนในธุรกิจใหม่หลายธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากเป็นช่วงปีที่จะมีรายได้เข้ามาเป็นจำนวนมากหลังจากที่โครงการ CFP แล้วเสร็จ โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจ Low Carbon, Health care, Home Care เป็นต้น

นายบัณฑิต กล่าวว่า ในปีนี้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทย คาดว่าจะเติบโต 4-5% จากปี 2565 เนื่องจากคาดการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการน้ำมันอากาศยานจะปรับสูงขึ้น 50-60% จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน

ในปีนี้จึงมีแผนจะเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตขึ้นไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด เนื่องจากปีนี้ไม่มีแผนการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ และค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับที่ดี โดยค่าการกลั่นสิงคโปร์ล่าสุดอยู่ที่ 7-9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ค่าการกลั่นเฉลี่ยปีก่อนสูงถึง 10.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นปีที่สูงผิดปกติ ทำให้ในปีนี้คาดการณ์รายได้ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากปีก่อนราคาน้ำมันและค่าการกลั่นสูงผิดปกติ แต่ในปีนี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด

ส่วนกรณีบางจากเข้าซื้อกิจการของเอสโซ่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไทยออยล์ เพราะลูกค้าของไทยออยล์คือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความผูกพันธ์กับไทยออยล์มานาน ประกอบกับน้ำมันเป็นตลาดเสรี การค้าขายขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อและความต้องการขายในตลาด มากกว่าการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ของไทยเร็ว ๆ นี้ ต้องการให้นโยบายด้านพลังงานมีความต่อเนื่องไม่ปรับเปลี่ยนจนส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงาน เหมือนในอดีตเคยมีนโยบายส่งเสริมการขายน้ำมันกลุ่มเอทานอลและไบโอดีเซล แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการกำหนดนโยบายใหม่ และนโยบายเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ก็อยากให้คงนโยบายไว้เหมือนเดิม หากมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อแผนการลงทุนของผู้ประกอบการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้