สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

Last updated: 2 พ.ค. 2566  |  7739 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

ค่าเชื้อเพลิง สาเหตุค่าไฟฟ้าแพง
ปัญหาค่าไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน กลายเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชี่ยลมีเดีย มีประเด็นต่อเนื่องมากมายที่ถูกชี้ว่าเป็นตัวการทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ทั้งการปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การจดหน่วยใช้ไฟผิดเพิ่มขึ้น การสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็นกลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้า จากการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้น การจ่ายค่า AP ให้โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากของพลังงานหมุนเวียน มีภาระค่า Adder และ FiT และการคิดค่าไฟฟ้าอัตราก้าวหน้า รวมถึงมีการเรียกร้องให้มีการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสความร้อนแรงจากปัญหาค่าไฟฟ้าที่ต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ไม่ได้มีการปรับขึ้น โดยค่าไฟฟ้าของประชาชนอยู่ที่อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ก็ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ค่าไฟฟ้ามีการปรับขึ้นมาโดยตลอด มาดูสาเหตุที่แท้จริงว่า อะไรทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

ค่าเชื้อเพลิงสูงส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้า
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในช่วงนี้ มีสาเหตุหลักมาจากค่าเชื้อเพลิง ซึ่งมีสัดส่วนถึง 60% ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติมีความผันผวนในระดับสูง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง การผลิตก๊าซฯ จากอ่าวไทยลดลงจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัญญา ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น

โดยสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ หรือการจัดหาก๊าซฯ เดิมใช้ก๊าซฯ จากอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้า 70-80% นำเข้าจากเมียนมา แหล่ง JDA และ LNG รวม 20% แต่ปี 2565 มีการใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทย 62% การนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 38% ซึ่งในส่วนนี้เป็น LNG ถึง 22% เนื่องจากการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณ เดิมผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทย อยู่ที่ 5-6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ขณะที่ LNG ตลาดจร จากเดิม 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในช่วงก่อนเกินสงคราม ขยับขึ้นมาถึง 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในปีก่อน ขณะที่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 12-13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู

ใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทน LNG เพื่อลดค่า Ft
ซึ่งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในช่วงที่ LNG มีราคาสูง มีการปรับสูตรการคำนวณราคาก๊าซ (Pool Gas) มีการใช้เชื้อเพลิงอื่นทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาผลิตทดแทน ซึ่งจากการบริหารจัดการในเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2565 ลดค่าไฟฟ้าได้เกือบ 40 สตางค์ต่อหน่วย เป็นมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านบาท และ กฟผ. ก็รับภาระค่า Ft แทนผู้ใช้ไฟไปก่อนเป็นการชั่วคราว รวม 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นค่าไฟ 75 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าขึ้นในอัตราที่น้อยลง หรือบางช่วงสามารถตรึงค่า Ft ในอัตราเดิม รวมทั้งรัฐบาลก็มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าน้อย

ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ซื้อก๊าซแพงขึ้น
ค่าเงินบาทเป็นอีกปัจจัยทำให้ค่าไฟแพงขึ้น โดยก่อนหน้านี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอยู่ระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ แต่มีบางช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปประมาณ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเงินบาทอ่อนค่าการซื้อก๊าซจากต่างประเทศต้องมีการจ่ายเงินมากขึ้น และยิ่งต้องเพิ่มปริมาณนำเข้า LNG มากขึ้น เพื่อมาทดแทนก๊าซฯ จากอ่าวไทย ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

ต้นทุนส่วนอื่นของค่าไฟฟ้า
ส่วนที่เหลือเป็นต้นทุนอื่น ๆ ซึ่งมีค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ค่าความพร้อมจ่าย (Available Payment สำหรับโรงไฟฟ้า IPP และ Capacity Pay สำหรับโรงไฟฟ้า SPP) ค่าส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ค่าระบบสายส่งของ กฟผ. ค่าระบบสายจำหน่ายของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย และเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า รวมประมาณ 16% หรือประมาณ 76 สตางค์ต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม ไนปี 2565 ค่า AP ที่จ่ายให้ IPP ที่ไม่ได้สั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ประมาณ 13 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นไม่ถึง 3% ของคำไฟฟ้ารวม

สำรองไฟฟ้าไม่ได้สูงถึง 50-60%
ส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศปี 2565 อยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 58% เพราะต้องคำนวณจากกำลังผลิตที่พึ่งได้ (Dependable capacity) ที่มีอยู่ 45,225 เมกะวัตต์ มากหักออกจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ไม่ใช่คำนวณจากกำลังผลิตตามสัญญา (Contract capacity) ที่ 52,566 เมกะวัตต์ ซึ่งพีกในปี 2565 อยู่ที่ 33,177 เมกะวัตต์ ดังนั้น สำรองไฟฟ้าที่พึ่งพิงในระบบได้จริงจะอยู่ที่ 36% เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน บางประเภทไม่สามารถพึ่งพิงได้ 100% และสำรองไฟฟ้าที่สูงก็มาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่การวางแผนการผลิตไฟฟ้าต้องใช้ระยะเวลา และการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ก็กำหนดชัดเจนว่าต้นทุนต้องต่ำกว่าภาคเอกชนเมื่อมีโรงใหม่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน ลดภาระเงินภาครัฐ

สำหรับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต้องปรับสูงขึ้นด้วย เพื่อรองรับการผลิตที่ยังไม่เสถียรของพลังงานทดแทน ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ค่าไฟบางส่วนต้องแพงขึ้น แต่จะมีการทบทวนทุกปีตามต้นทุนจริงเพื่อให้ราคาถูกลง อาทิ การเปิดรับซื้อโครงการพลังงานหมุนเวียน มีการกำหนดค่าไฟฟ้าไว้ ก็จะทำให้ราคาถูกกว่าต้นทุนเฉลี่ยการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และในอนาคตจะมีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่เข้ามา ก็จะทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีความเสถียรมากขึ้น

ในอดีตจะมีส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่มีราคาแพง เพราะเทคโนโลยียังใช้ไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนการลงทุนแพงเฉลี่ย 200 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีดีขึ้น ต้นทุนการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ เมื่อต้นทุนถูกลงเรื่อย ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมี Adder อีก และมีการเปลี่ยนมาใช้ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่ง ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงาน หมุนเวียน ซึ่งอัตรา FiT จะอยู่ในรูปแบบ อัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (มีการปรับเพิ่มสำหรับกลุ่มที่มีการใช้เชื้อเพลิง) โดยอัตรา FiT จะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามค่าไฟฐานและค่า Ft ทำให้มีราคาที่ชัดเจนและเกิดความเป็นธรรม

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เน้นความมั่นคงทางด้านพลังงาน จะเห็นว่าด้านคุณภาพบริการของไทยดีอันดับต้นของอาเซียน เพราะต้องเตรียมพร้อมให้กลุ่มอุตสาหกรรม หากไฟดับ 1 ครั้ง จะสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายทั่วโลกที่ต้องการลดคาร์บอน การจัดทำแผนพลังงานชาติ ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน 50% ในปี 2573

ไฟฟ้าอัตราก้าวหน้าจำเป็น เพราะจะทำให้เกิดการประหยัด
ส่วนประเด็นเรื่องการเก็บค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า ทำให้การไฟฟ้าได้รับเงินเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ลงทุนเพิ่ม การจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า เนื่องจากต้องการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการประหยัด และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้ารวมกันประมาณ 80% ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ามากมีสัดส่วน 20% ของการใช้ไฟฟ้ารวม แต่มีปริมาณการใช้มาก หากจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าในอัตราเดียวกัน ผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากก็จะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมของการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

เจรจาสัญญาไฟฟ้าเคยทำหรือไม่
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เรื่องนี้เคยมีการหารือกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก SPP ไปแล้ว เนื่องจากสัญญาของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในอดีตมี Adder แม้ว่าจะทยอยหมดลงเรื่อย ๆ แต่มีการต่อสัญญาอัตโนมัติทุก 5 ปี โดยได้รับอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน แต่เอกชนแจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสถาบันการเงินที่ให้กู้ ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้