สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

Last updated: 25 พ.ค. 2566  |  621 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

ทุบสถิติพีกไฟฟ้าแล้ว 6 รอบ สนพ. การันตี มีไฟฟ้าเพียงพอแน่นอน

จากสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนของไทยร้อนแรงมาก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานสถิติปริมาณ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีกไฟฟ้า ในระบบของ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในรอบปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยล่าสุดเกิดพีกไฟฟ้า 34,862.5 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 21.41 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เป็นการทำลายทุกสถิติตั้งแต่มีการเกิดพีกในประเทศไทยมา เนื่องจากอุณหภูมิในประเทศไทยร้อนจัด ส่งผลให้แต่ละบ้านเปิด เครื่องปรับอากาศ และพัดลมคลายร้อนเพิ่มมากขึ้น

ร้อนจัด! ทำลายสถิติพีกประเทศไทย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากรายงานสถิติปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในระบบของ 3 การไฟฟ้า ในรอบปีนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดย ครั้งแรก เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 เวลา 15.43 น. มียอดพีกไฟฟ้า อยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 2 วันที่4 เมษายน 2566 เวลา 15.28 น. มียอดพีกไฟฟ้าอยู่ที่ 31,495.5 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 3 วันที่ 6 เมษายน 2566 เวลา 20.52 น. มียอดพีกไฟฟ้าอยู่ที่ 32,963 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 4 วันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 20.50 น. มียอดพีกไฟฟ้าอยู่ที่ 33,062 เมกะวัตต์ ครั้งที่ 5 วันที่ 21 เมษายน 2566 เวลา 20.50 น. มียอดพีกไฟฟ้าอยู่ที่ 33,384.7 เมกะวัตต์ ซึ่งทำลายสถิติพีกประเทศไทย และยังถือเป็นการพีก 2 วันต่อเนื่อง และครั้งที่ 6 วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. มียอดพีกไฟฟ้าอยู่ที่ 34,862.5 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ สนพ. แนะนำให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยใช้หลัก 4 ป. ปฏิบัติการ คือ ปิด-ปรับ-ปลด- เปลี่ยน การใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อความประหยัดของครัวเรือน คือ
ปิด-การปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น
ปรับ- ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมที่ 26 องศาเซลเซียส การปรับอุณหภูมิเพิ่ม 1 องศา จะสามารถประหยัดไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และปรับคูล โหมด เป็น แฟนโหมด
และเปลี่ยน-เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานเบอร์ 5 และเปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า คือ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 13.00-15.00 น. และ 19.00-21.00 น. เพื่อลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ

จากยอดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปีนี้ ระบบไฟฟ้าจะเพียงพอหรือไม่(?)
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า แม้ว่าในปีนี้ประชาชนจะมีการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเนื่องจากปีนี้มีสภาพอากาศที่ร้อนขขึ้นในรอบ 8 ปี กระทรวงพลังงานมีการเตรียมความพร้อมการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ให้ประชาชนอย่างเพียงพอแน่นอน โดยได้มีมาตรการเตรียมแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ เรียกว่า PDP (Power Development Plan) ทำหน้าที่จัดหาโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศซึ่งจะมีการพยากรณ์ล่วงหน้าให้สอดคล้องกันหรือมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากกว่าที่ได้พยากรณ์ไว้ นอกจากนี้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนของ PDP มีตัวเลขการสำรองไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 15 - 25

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ Reserve Margin เป็นหลักและมีการใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) ควบคู่ไปด้วยกัน แต่สังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจ Reserve Margin มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในโรงไฟฟ้าในอนาคตจะมีพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมซึ่งเป็นพลังงานที่อาจจะมีความไม่เสถียร ฉะนั้นเกณฑ์การสำรองไฟฟ้าไม่สามารถใช้การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ในจุด ๆ เดียวได้ จะต้องมีการเปลี่ยนมาเป็นการวัดทุกช่วงเวลาแทน การเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์การวัด LOLE จะตอบโจทย์ทุกช่วงเวลา ทุกชั่วโมง ช่วยลดอัตราความสูญเสียโอกาสการเกิดไฟดับ

ไม่ว่าจะใช้ Reserve Margin หรือ LOLE ก็ไม่กระทบประชาชน
การเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าแบบ LOLE สำหรับในภาคประชาชนจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะประเทศไทยได้มีการใช้เกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้ง "เกณฑ์กำลังไฟฟ้าผลิตสำรอง" และ "เกณฑ์ในโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ LOLE" ควบคู่กันในการวางแผนระบบไฟฟ้าในประเทศมานานกว่า 10 ปีแล้ว ปัจจุบันตัวเลขค่า LOLE ในประเทศไทยใช้ในเกณฑ์ 0.7 ซึ่งอาจจะสูงกว่าสหรัฐอเมริกาหรือเกาหลีใต้ ที่อยู่ที่เกณฑ์ 0.1 - 0.3 แต่ก็ต่ำกว่าในบางประเทศ ซึ่ง สนพ. ได้ศึกษาและวิเคราะห์ว่าเกณฑ์ค่า 0.7 เป็นเกณฑ์ที่ เหมาะสมกับประเทศไทยมีความสอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตสามารถการันตีได้ว่าประเทศไทยจะมีกำลังไฟฟ้าใช้เพียงพอและไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ สามารถที่จะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและความมั่นคงในทุกชั่วโมงและตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน

#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน #สนพ
#เราสร้างสรรค์เพื่อทุกคน #CreateTheFutureEnergy
#กระทรวงพลังงาน
#EppoChallenge

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้