ปตท. สำรวจเเละผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

Last updated: 9 เม.ย 2567  |  1080 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. สำรวจเเละผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

เชฟรอน ทิ้งหุ้นยาดานา ในเมียนมา ปตท.สผ. หุ้นเพิ่ม เร่งลงทุนเพิ่ม

แหล่งก๊าซธรรมชาติ ยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ ในประเทศเมียนมา แหล่งก๊าซฯ ที่ถูกพัฒนาและดำเนินการผลิตตั้งแต่ปี 2541 เป็นโครงการแรกในเมียนมาที่เป็นความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของทั้งสองประเทศ ส่วนหนึ่งจัดส่งเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าภายในเมียนมา และอีกส่วนหนึ่งนำเข้ามาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทย วันนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งถือว่าอาจจะเป็นบทสุดท้ายของมหากาพย์เรื่องหุ้นในแหล่งยาดานา

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า บริษัท Unocal Myanmar Offshore Company Limited (UMOC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ Chevron ได้แจ้งความจำนงค์ในการถอนการลงทุนในโครงการยาดานา และได้ดำเนินการถอนการลงทุนแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ภายหลังถอนการลงทุนแล้ว สัดส่วนการลงทุนของ UMOC ได้ถูกโอนให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ โดยบริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTEPI) บริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท.สผ. จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ 62.9630% ในโครงการยาดานา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ส่วนที่เหลือจะเป็น Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE)

ซึ่งเดิมสัดส่วนการลงทุนในโครงการนี้ มี UMOC ถือสัดส่วน 41.1016% PTTEPI ถือสัดส่วน 37.0842% และเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) และ MOGE ถือสัดส่วน 21.8142%

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การถอนตัวของ Chevron จะทำให้แผนการเพิ่มกำลังการผลิตในแหล่งก๊าซฯ นี้มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาแผนการเพิ่มกำลังการผลิตจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ปัจจุบันแหล่งก๊าซฯ ยาดานา มีกำลังการผลิตก๊าซฯ 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จัดส่งเข้าประเทศไทย 350 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และสัมปทานจะสิ้นสุดปี 2571 ซึ่ง ปตท.สผ. ต้องมีการลงทุนเพิ่มในการพัฒนาแหล่งนี้ เพื่อที่จะรักษาระดับการผลิตหรือเพิ่มการผลิตให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซฯ มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน และการผลิตก๊าซฯ จากประเทศเมียนมา ลดลงเรื่อย ๆ จากปัจจุบันมีการลงทุนใน 3 แหล่ง คือ ยาดานา เยตากุน และซอติก้า แต่แหล่งเยตากุน แทบไม่มีปริมาณก๊าซฯ เหลือส่งเข้าประเทศไทยแล้ว ขณะที่แหล่งก๊าซฯ จากเมียนมา มีราคาถูกหากเพิ่มปริมาณการผลิตได้ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งก๊าซฯ นี้ หลังจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดการรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดยรัฐบาลเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ พลเอกอาวุโส มี่นอองไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะรัฐประหาร ในเวลานั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมียนมา และประธานคณะมนตรีบริหารประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา

ทำให้กลุ่มชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร ออกมาคัดค้านการทำรัฐประหารดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องและออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต่างชาติจำนวนมากหยุดการลงทุน ตลอดจนการดำเนินกิจการทั้งหมดในเมียนมา เพื่อไม่เป็นการสนับสนุนการรัฐประหารที่อาจเข้าข่ายมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนชาวเมียนมาอย่างร้ายแรง ซึ่งกลุ่ม ปตท. มีโครงการลงทุนในเมียนมาหลายโครงการ ก็ได้รับการเรียกร้องให้หยุดดำเนินกิจการทั้งหมดในเมียนมา

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 บริษัท TotalEnergies EP Myanmar ได้ขอถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ จากโครงการ ในประเทศเมียนมา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา จาก TotalEnergies เป็น PTTEPI มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นเดิมของ TotalEnergies ที่ 31.2375% และ MGTC ได้ถูกกระจายไปให้ผู้ร่วมทุนที่เหลือในโครงการ ดังนี้ UMOC 41.1016% (เดิม 28.2625%) PTTEPI 37.0842% (เดิม 25.5%) และเป็นผู้ดำเนินการ และ MOGE 21.8142% (เดิม 15%)

ในช่วงปี 2564 โครงการยาดานามีอัตราการผลิตก๊าซฯ ประมาณ 770 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โดยส่งก๊าซฯ ให้กับประเทศไทยประมาณ 570 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย ขณะที่อีกประมาณ 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศเมียนมา หลังจากนั้น กำลังการผลิตก๊าซฯ ก็ลดลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้