ส่อง Smart City ใน Energy 4.0

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  3489 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ส่อง Smart City ใน Energy 4.0

ส่อง Smart City ใน Energy 4.0
 
ในช่วงที่ผ่านมา คำว่า Smart City หรือ “เมืองอัจฉริยะ” เริ่มเป็นที่กล่าวถึงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในบริบทเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง และการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และ Smart City ยังเป็นส่วนหนึ่งในแผน Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานที่รับโครงการนี้มาสานต่อให้เป็นรูปธรรมร่วมกับอีกหลายภาคส่วน

อาจมีคำถามต่อว่า...แล้ว Smart City คืออะไร...และเมืองแบบไหนถึงจะเรียกว่า “สมาร์ท”?

Smart City คือคำเรียกเมืองที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน ระบบการสื่อสาร หรือโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องตัว และทำให้คุณภาพของการใช้ชีวิตในเมืองนั้นๆ ดีขึ้น ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานของเมืองลง อีกทั้งยังต้องมีการวางแผนพัฒนาเมืองแบบฉลาดๆ ต่อไปในอนาคต เพราะสังคมจะทวีความซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยๆ

Smart City เป็นโครงการที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก พยายามจะพัฒนาไปให้ถึงสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่า “เมืองในฝัน” ซึ่งการออกแบบ Smart City นั้นมีได้หลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ แล้วร่วมกันออกแบบระบบที่เหมาะสมที่สุดกับคุณสมบัติของเมืองนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

การออกแบบ Smart City โดยทั่วไปจะเน้นให้ความสำคัญในสามองค์ประกอบหลัก คือ 

1. การพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดรับกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ
2. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3. การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ ที่เรียกว่า Smart Grid ระบบมิเตอร์อัตโนมัติ ระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะ ระบบควบคุมอาคารอัจฉริยะ และระบบตรวจวัดมลภาวะสร้างฐานข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้จริง 

ถึงแม้ ประเทศไทยจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน แต่โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเราเริ่มจะมองเห็นภาพร่างในหลายจังหวัด และหลายมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งด้วยการสนับสนุนของกระทรวงพลังงานซึ่งมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 4 ด้าน คือ 

1. ด้านพลังงานและสาธารณูปโภคพื้นฐาน  คือ ส่งเสริมการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในเมืองอัจฉริยะ การส่งเสริมให้ดำเนินการระบบ Micro-grid การพิจารณาส่งเสริมการส่งจ่ายและจำหน่ายไฟฟ้าภายในโครงการโดยให้ภาคเอกชนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าเองได้ การส่งเสริมการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การส่งเสริมการเดินทางโดยพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมให้เมืองอัจฉริยะสามารถผลิตและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพ (Physical Infrastructure) และโครงสร้างด้านดิจิตอล  (Digital Infrastructure) ได้เองภายในขอบเขตของเมือง 

2. ด้านผังเมืองและการขนส่ง  คือ การจัดรูปผังเมืองเฉพาะสำหรับเมืองอัจฉริยะ เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้พื้นที่สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสามารถจัดผังเมืองที่ส่งเสริมให้ใช้พลังงานน้อยลงในการเดินทาง หรือ เดินหรือขี่จักรยาน ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานในการเดินทางได้โดยสะดวก รวมทั้งพิจารณาส่งเสริมให้เมืองอัจฉริยะสามารถให้บริการระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองของตนเอง โดยจะให้ความสำคัญกับระบบพลังงานสะอาดเป็นหลัก 

3. ด้านชุมชนเมือง สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว  คือ ส่งเสริมให้มีการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขภาพ การป้องกันภัยพิบัติ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ทุพลภาพ ให้ความสำคัญกับรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านต่างๆ ภายในเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สิทธิ หรือ สวัสดิการพิเศษสำหรับผู้อยู่อาศัย หรือ ทำงานในเมืองอัจฉริยะ กำหนดทิศทางให้เมืองอัจฉริยะเป็นแหล่งเรียนรู้ สถานที่พักผ่อน และท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว 

4. ด้านการบริหารจัดการเมือง คือ ส่งเสริมให้มีระบบการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะเพื่อให้เมืองคงความเป็นอัจฉริยะในด้านต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยในการบริหารจัดการและต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ตลอดเวลา

และเพื่อที่จะให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในบ้านเรา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสถาบันอาคารเขียวไทย  จนได้โครงการที่ผ่านการพิจารณารอบสุดท้าย 6 โครงการ ดังนี้

1. โครงการมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ  รู้รักษ์พลังงาน  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดย นิด้า   
2. โครงการ  มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด 
3. โครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ   
4. โครงการต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต   
5. โครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน  
6. โครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง 

โครงการทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยต่อไป ด้วยความหวังว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ “Smart City” จะช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ การระบายน้ำ ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี คุณภาพอากาศที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว สนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนจะเป็นการบ่มเพาะให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ได้ในอนาคต 

และคงไม่ใช่ความฝันที่ประเทศไทยเรากำลังจะมี “เมืองในฝัน” ในอีกไม่นานนี้…

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้