เจาะขุมพลัง ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  2357 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เจาะขุมพลัง ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์

 

สูตรผสมความ ‘ชัดเจน’ และ ‘กล้าหาญ’ 
เชื้อเพลิงขับเคลื่อนภาคพลังงาน ของ รมว.พลังงานคนใหม่

ทันทีที่ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เข้าปฏิบัติงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ของ ครม.ประยุทธ์ 5   คนในแวดวงพลังงานก็สัมผัสได้อย่างชัดเจนถึงสัญญาณเร่งเร้าในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพื่อผลักดันให้เกิดผลอันเป็นรูปธรรมของงานสำคัญๆ ด้านพลังงานที่ยังค้างคา และนั่นคือความท้าทายครั้งใหม่ของ ดร.ศิริ  ผู้มีชื่อชั้นและความเป็นมาที่ไม่ธรรมดาในวงการนี้

Energy Time Online ได้รับโอกาสให้เข้าสัมภาษณ์ ดร.ศิริ ณ ห้องรับรองของกระทรวงพลังงาน ในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง  เพื่อสื่อสารแนวคิดและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่  ผู้ซึ่งมีโปรไฟล์และแฟ้มประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ดร. ศิริ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมีระดับเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัย California Institute of Technology  และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสหรัฐอเมริกา  แถมยังคว้าปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากสถาบันเดียวกันนี้มาได้อีกหนึ่งใบ

ดร.ศิริ เคยนิยามตัวเองว่า...เขาไม่ใช่ทั้งวิศวกร และไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เขาพยายามมองกว้างขึ้นไปอีกขั้นว่า จะใช้ศาสตร์ด้านวิศวกรรมในการพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ดร. ศิริ ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในแวดวงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ…เคยเป็นผู้ว่าการของ บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด มหาชน)...เคยเป็นที่ปรึกษาให้ธนาคารกรุงเทพในการวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี...เคยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญอยู่ในกลุ่มปฎิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS)  ตลอดจนยังเป็นกรรมาธิการสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงานด้วย ไม่นับตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง  และก่อนหน้านี้ ดร.ศิริ ก็เคยออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในเรื่องของแนวทางการปฎิรูปพลังงานอยู่บ่อยครั้ง

มีผู้วิเคราะห์ว่า การวางตัวให้ ดร.ศิริ มารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่นั้น   ถือว่าเป็นการวางคนที่มีความรู้ความสามารถตรงกับสายงานมากที่สุด และน่าจะเป็นความหวังในการผลักดันงานสำคัญๆ ด้านพลังงานให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้ภายในปีงบประมาณนี้ 

ถึงคราวที่จะต้องลงมือทำ

ดร.ศิริ ในชุดเครื่องแบบข้าราชการสีกากี เริ่มต้นการพูดคุยกับ Energy Time Online ด้วยการบอกเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนที่ 3 ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ว่า 

“ตอนมารับตำแหน่ง ก็ถือว่าได้มีโอกาสมาทำงานช่วยประเทศในรูปแบบหนึ่ง ในฐานะที่เคยเสนอทางเลือกต่างๆ เรื่องพลังงานมาหลายเรื่องแล้ว ก็ได้โอกาสที่จะมาทำทางเลือกต่างๆ ที่เคยเสนอให้สัมฤทธิ์ผล แล้วดูว่าผลที่ออกมาจะช่วยประเทศไทยได้ไหม  ซึ่งตอนนี้มีหลายเรื่องที่สำคัญมากๆ

“พลังงานเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมมาตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเรื่องสำคัญ และมีบทบาทอย่างมากในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะหากราคาน้ำมันขึ้นก็จะเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า สังคมก็เดือดร้อน ค่าไฟฟ้าเดี๋ยวแพงเดี๋ยวถูก คนก็กังวล ก็กระทบกับคน และเศรษฐกิจด้วย การประกอบธุรกิจต่างๆ ก็จะอยู่ไม่ได้”

เมื่อถามถึงงานแรกที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ คำตอบแบบฟันธงของ ดร.ศิริ  ก็คือ การเปิดประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมก๊าซธรรมชาติเอราวัณ-บงกช ซึ่งเขาย้ำว่า “เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วน ” 

“เราต้องดูความสำคัญของทั้งสองแหล่งนี้ เพราะมีเรื่องไฟฟ้ามาเกี่ยวข้องอย่างมาก หากไม่มีก๊าซฯ จากสองแหล่งนี้มาผลิตไฟฟ้า ไฟฟ้าก็จะดับครึ่งประเทศ หากไม่สามารถดำเนินการแหล่งเอราวัณ และบงกชได้ เมื่อเกิดไฟดับก็จะมีปัญหามากขึ้นไปอีก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่ต้องทำ ซึ่งสัมปทานทั้งสองแหล่งนี้ จะสิ้นสุดแล้วในปี 2565 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ตอนนี้เวลาเหลือน้อยแล้ว ถ้าไม่เข้าไปทำอะไร ก็ต้องรื้อถอนแท่นออกไป ก็ไม่มีการผลิตก๊าซฯ จากสองแหล่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งหลักในการผลิตก๊าซฯ ของประเทศ ก็จะเกิดไฟดับไปครึ่งประเทศในอีก 5 ปี ซึ่งเราจะให้เกิดอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องรีบบริหารจัดการ 

“ถ้าบริหารจัดการไม่ได้ แล้วไปซื้อจากเอกชนรายใหม่ที่ประมูลเข้ามา ในราคาที่ไม่ใช่ราคาปัจจุบัน แต่เป็นราคาแพงที่ขึ้นมาก ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้น แล้วทุกชีวิตก็มีผลกระทบ กระทบไปทุกหย่อมหญ้า ผมจึงตั้งเป้าว่าจะต้องทำเรื่องนี้ให้มีความชัดเจน เพื่อความสบายใจของสังคมไทย และผู้ลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศไทยมีทิศทางที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อย่างมั่นคงในอนาคต โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ถ้ามีคำตอบที่ชัดเจนในปีนี้ ทุกคนก็สบายใจ และวางแผนการดำเนินงานได้”

นอกเหนือจากความชัดเจนแล้ว  งานนี้ยังต้องใช้ “ความกล้าหาญ” ร่วมด้วย เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ

“ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ เพื่อมาดำเนินการในเรื่องนี้  ผมก็มาช่วยดูว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และได้ให้นโยบายว่า ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ให้ทำไปด้วยความกล้าหาญ ให้ได้ประโยชน์ต่อประเทศสูงสุดตามความต้องการของประเทศให้ได้มากที่สุด ส่วนที่ใครจะมาร่วมประมูลมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องรอง ถ้ามีผู้มาเข้าร่วมประมูลน้อย แต่ผลการประมูลได้ประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด ก็รับได้ ดีกว่าออกเงื่อนไขการประมูลที่ไม่ชัดเจน หรือพยายามให้คนมาเข้าร่วมประมูลเยอะๆ แต่ผลออกมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะมาร่วมมากหรือน้อยเท่าไร ถ้าเกิดความไม่แน่นอนตรงนั้น กว่าจะตัดสินใจได้ก็ยาก เช่น ผลประมูลออกมา ได้ก๊าซฯ น้อยลงไปครึ่งนึง ราคาแพงขึ้นเท่าตัว ก็รับไม่ไหว ก็เกิดความไม่แน่นอน เราก็ต้องสร้างความมั่นใจ ต้องเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจว่าทรัพยากรของเรามีมากพอที่จะดึงดูดให้มาลงทุนในเงื่อนไขการประมูลที่เป็นสากล เปิดเผย เปิดกว้าง อันนี้คิดว่าเป็นการดึงดูดการลงทุน และยังรักษาผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของปริมาณก๊าซฯ และราคาก๊าซ ซึ่งเป็นความมั่นคง”

เพื่อให้ “ความชัดเจน” ยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก  ดร.ศิริได้กำหนดกรอบเวลาสำหรับการประมูลแห่งเอราวัณ-บงกช ไว้อย่างค่อนข้างเป๊ะ

“สิ้นเดือนมกราคมน่าจะเห็นเงื่อนไขที่ชัดเจน สิ้นเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีเอกสารออกมาได้ และกระบวนการเริ่มประมูลน่าจะเริ่มที่เดือนมีนาคม แล้วประมาณกลางปี หรือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม น่าจะเห็นผลแล้วว่าหน้าตาเป็นอย่างไร จะสัมฤทธิ์ผลยังไง ภายในครึ่งหลังของปีนี้น่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้าทำได้สำเร็จตามนี้ก็มั่นใจว่าก๊าซฯ จะมาทันแน่นอน แล้วก็มีความต่อเนื่อง ไม่มีการลดลง หรือเพิ่มขึ้นทีหลัง”

หลากมุมมองแต่ต้องยืดหยุ่น

ดร.ศิริ บอกเล่าถึงงานที่จะต้องเร่งผลักดันในลำดับถัดไปว่า

“เรื่องที่สองที่ต้องดำเนินการ ก็คือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ พีดีพี ซึ่งก็คือแผนการผลิตไฟฟ้าใน 5-10 ปีข้างหน้า ว่าจะใช้ไฟมากขึ้นเท่าไร จะมีรถไฟฟ้าไหม จะมีไฟฟ้าเพียงพอ  ต่อเนื่องไหม หรือยังจะใช้รถน้ำมันต่อไป ที่ผ่านมาเราจะวางแผนว่า อนาคตเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี ไปอีก 10-20 ปี มันขาดความยืดหยุ่น เราจึงต้องมามองหาแผนที่มีความยืดหยุ่น ภาษาไทยเรียกว่า ภาพฉาย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Scenario  มามองภาพต่างๆว่า มุมมองภาพจะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุด” 

อีก Scenario ที่น่าจะเปลี่ยนแปลงในทัศนะของ ดร.ศิริ ก็คือ มุมมองเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างภูมิภาคต่างๆ  ซึ่งมีผลกระทบต่อการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

“ประเทศไทยแม้จะรวมการบริหารจัดการเป็นหนึ่งเดียว แต่ก็มีความแตกต่างของภาคเหนือซึ่งหนาว ภาคอีสานแห้งแล้ง ภาคกลางมีน้ำเยอะ ภาคใต้มีอุณหภูมิสูง ซึ่งต่างกันออกไป แล้วระบบไฟฟ้าจะเชื่อมโยงอย่างไร แต่ละภาคจะมีเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน เช่น เศษวัสดุเหลือใช้ ไบโอแมส เขื่อน น้ำ แตกต่างกันไป และจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร  แต่ไม่ใช่ให้คิดค่าไฟฟ้าราคาต่างกัน คนละภาคคนละราคา อันนั้นไม่เคยอยู่ในข้อเสนอ เพราะประเทศไทยยังไงก็ต้องเป็นหนึ่งเดียวอยู่ดี ประชาชนคนไทยทุกภาคก็ต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เพียงแต่เราต้องหาวิธีทำงาน  ภาคอีสาน หรือ ภาคใต้อาจจะแตกต่างกัน แต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะซื้อไฟฟ้าราคาเดียวกัน”

นโยบายทุกเรื่อง ดร.ศิริ จะมีกรอบเวลากำกับไปด้วยเสมอ รวมทั้งปัญหาเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ซึ่งค้างคามานาน

“ปัญหาเรื่องไฟฟ้า ก็มีเรื่องภาคใต้ เราจะใช้ถ่านหินไหม  โรงไฟฟ้ากระบี่ เทพา จะเป็นอย่างไร ก็จะมีคำตอบที่ชัดเจนว่าเราจะทำยังไง  ตั้งเป้าไว้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ น่าจะได้คำตอบ และแผนพีดีพีก็จะมีคำตอบชัดขึ้นในสิ้นเดือนมีนาคม”

ส่วนในเรื่องการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ นั้น ดร.ศิริ มีมุมมองในประเด็นด้านราคาว่า

“ที่ผ่านมา มีความพยายามสนับสนุนและทดลองใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ ขยะ เศษแกลบ หรือเศษไม้ต่างๆ ด้วยการให้ราคารับซื้อที่ค่อนข้างสูง เพื่อกระตุ้นให้มีการทดลอง มีการผลิต แต่ ณ วันนี้ประสบการณ์ต่างๆ ก็มีมากเพียงพอแล้ว และเทคโนโลยีก็ได้ยกระดับแล้ว เราก็ควรเดินไปข้างหน้า ไม่ควรที่จะให้การทดลองหรือเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟ โดยส่วนตัวผมกำลังร่างนโยบายขึ้นมาเพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการต่างๆ โดยเฉพาะ กพช. ให้พิจารณาว่า  ควรหรือไม่ที่จะกำหนดเป็นกรอบนโยบายเอาไว้เลยว่า จะไม่ซื้อไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าราคาที่เราขายประชาชนได้ เพราะถ้าเราซื้อสูงกว่าที่ขายประชาชน ส่วนต่างก็ต้องมาบวกเป็นค่าไฟกับประชาชนอยู่ดี ก็อย่าทำอย่างนั้นเลยดีกว่าไหม”

นอกจากนี้ ดร.ศิริ ยังสนับสนุนการเปิดโอกาสให้ กฟผ.เข้ามาแข่งขันในธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนด้วย  

“โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ถ้าเป็นโซลาร์ ฟาร์ม หรือใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ก็ไม่ควรขายไฟฟ้าเข้าระบบแพงกว่าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าอื่นๆ ของภาคเอกชน ทั้ง โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือ SPP ควรขายราคาที่แข่งขัน และ กฟผ.ก็ควรเข้ามาแข่งขันได้ ไม่ควรโดนจำกัด  ในอดีตเราไม่เคยเชิญ กฟผ.เข้ามาแข่งขัน แต่ในอนาคตเราต้องเชิญ กฟผ.มาแข่งขันด้วย เพราะ กฟผ.ก็มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากแผนการลงทุนที่มีอยู่แล้วเพื่อความมั่นคง และ กฟผ.ก็สามารถมีแรงจูงใจในพัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อมาแข่งขันและทำธุรกิจตัวเองได้ด้วย” 

ทุกนโยบายต้องหาจุดที่เหมาะสม

ในมุมด้านเซื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้านั้น ดร.ศิริ มองว่า

“สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ตอนนี้เราใช้ก๊าซฯ มาก เพราะเป็นเชื้อเพลิงหลัก เราต้องมาพิจารณาว่า เมื่อการจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งผลิตในประเทศไทย และซื้อจากพม่าเริ่มลดน้อยลง เราจะต้องไปศึกษาว่า จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในสัดส่วนปริมาณเท่าไหร่ เพื่อความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ก็เห็นอยู่ว่า จะมีการนำเข้าประมาณหนึ่ง ถ้าเผื่อรักษาระดับการใช้ก๊าซฯ ในระดับปัจจุบันได้  ส่วนอื่นๆ ก็เพิ่มจากแหล่งพลังงานทดแทนที่ต้องได้รับการยืนยันก่อนว่า มีประสิทธิภาพ และมีราคาที่ไม่แพง  ก็น่าจะเป็นไปในรูปนั้น เพราะว่าไปทางก๊าซฯ มากก็ไม่น่าจะดี”

แล้วถ้าเป็นเชื้อเพลิงถ่านหินล่ะ?

“คำถามว่าถ่านหินจำเป็นไหม เหมาะสมไหม มันก็จะมีจุดเหมาะสมอยู่ในจุดหนึ่ง แต่ต้องอยู่ที่ว่าสังคมรับได้มากเท่าไรด้วย สังคมมีความรู้สึกมีความปลอดภัยไหมกับการที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น หรือเพิ่มขึ้นในเมืองไทย ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยมีเลย เรามีโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนที่มีประสบการณ์ที่ดีด้วย ก็มีเยอะ ไม่ใช่ไม่มีเลย เราจะเอาตัวอย่างนั้นหรือประสบการณ์นั้นมาขยายผล หรือเพิ่มเติมต่อยอดได้อย่างไรเพื่อที่จะใช้ถ่านหิน ไม่มีข้อจำกัดในส่วนนี้ อยู่ที่ความเหมาะสม ซึ่งความเหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของระบบพลังงานไทย ถ้าระบบพลังงานเรามีความมั่นคง และยืดหยุ่นให้เลือกเชื้อเพลิงได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี ก็จะพยายามทำตรงนั้น”

สำหรับประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ที่เป็นเผือกร้อนของรัฐบาลทุกสมัย  ในเรื่องนี้ ดร.ศิริ อธิบายว่า

“เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินทางภาคใต้ จะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องสายส่ง และเรื่องแหล่งผลิต ถ้ามาดูในกรอบจะเห็นชัดขึ้นว่า ระบบสายส่งภาคใต้มีไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มสายส่งเฉพาะที่เชื่อมโยงกันในภาคใต้  ไม่ใช่สายส่งที่เชื่อมโยงจากภาคกลาง ด้านโรงไฟฟ้าก็มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จะนะ ที่ขนอม เราใช้โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาดใหญ่ที่มีอยู่ แล้วต่อสายส่งเพื่อเชื่อมไปทุกมุมของภาคใต้ให้มีไฟฟ้าใช้ ตอนนี้ต้องทำอย่างนั้นก่อน ส่วนควรจะเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม หรือ โรงไฟฟ้าจะนะ ดีหรือไม่นั้น ต้องไปคำนวณก่อน หรือ ถ้าจะเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่เทพา หรือที่กระบี่ ก็ต้องไปประเมินต้นทุน แผนงานในอนาคตออกมา ไม่อยากให้เร่งให้คำตอบ อยากให้มองทุกมุมให้ชัดเจน แล้วภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีคำตอบตรงนี้ แต่จะมองทุกมุม แล้วก็นำความกังวล ความเป็นห่วงของคนในภาคใต้ในเรื่องของการที่จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดใหญ่ และจะใช้ถ่านหินในพื้นที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  ความกังวลเช่นนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นปกติ ก็ต้องทำความเข้าใจกันไป ก็ต้องให้เวลา”

นอกจากนี้ ดร.ศิริ ยังสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาที่เรียกกันว่า โซลาร์ รูฟ (Solar Roof)

“กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาในส่วนที่ว่า การผลิตไฟฟ้าจาก โซลาร์ รูฟ หากมีไฟฟ้าเหลือในช่วงเวลากลางวันที่ไม่อยู่บ้าน ก็สามารถนำเอาไฟฟ้าส่วนที่เหลือนี้ไปทำประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่ม  เรากำลังคิดระบบที่จะมาเชื่อมโยงกัน โดยจะมีการส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวศึกษาได้เรียนรู้ และสามารถเป็นอีกส่วนหนึ่งในการเข้ามาช่วยติดตั้งระบบ ซึ่งจะทำให้การติดตั้งโซลาร์ รูฟ ไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มเดียว และจะทำให้มีความสะดวกในการติดตั้งได้ง่ายขึ้น”

ภาคพลังงานจะสร้างแรงส่งที่ทรงพลัง

ท้ายที่สุด  ดร.ศิริ ได้สรุปบทบาทหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในยุคที่เขาเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายไว้ว่า

“บทบาทที่สำคัญของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้เป็นในสมัยนี้ ก็คือ 1.ช่วยรักษาฐานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ คือ ทำการเรื่องสัมปทานให้ประสบความสำเร็จ ให้สามารถเปิดประมูล และหาผู้ชนะเข้ามาบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ และบงกชได้ เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างมั่นคง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับภาคส่วนต่างๆ ในการที่จะดำเนินงานต่อไป และ 2.สนับสนุนให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า เมืองไทยกำลังก้าวกระโดดไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนพยายามก้าวกระโดด หากกระทรวงพลังงานสามารถที่จะทำให้เชื้อเพลิงเป็นแรงส่งให้ประเทศไทยก้าวกระโดดไปยิ่งไกลก็ยิ่งดี เพราะฉะนั้นเชื้อเพลิงที่ดีที่สุด ก็คือ ถ้าเราสามารถลดค่าใช้จ่าย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดภาระค่าใช้จ่าย ถ้าสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 1-5 สตางค์/หน่วย ลดราคาน้ำมันได้ 30-50 สตางค์/ลิตร ปีนึงเราใส่เงินเข้าไปในระบบ เพื่อมาใช้จ่ายได้ 3-5 หมื่นล้านบาท ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจก้าวกระโดดไปได้ไกลยิ่งขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้น

“หน้าที่เราต้องทำ 2 อย่าง คือ รักษาฐานให้ความมั่นคง และสนับสนุนเป็นตัวเสริมให้ประเทศก้าวกระโดดไปได้ไกล เพื่อบอกว่าต่อไปนี้  พลังงานจะไม่เป็นภาระอีกต่อไป และพลังงานจะปลดภาระให้ดู ระบบพลังงานมีประสิทธิภาพ เปิดเผย โปร่งใส ตอบได้ทุกอย่าง”

ทั้งหมดคือ ความท้าทายที่รอพิสูจน์ฝีมือของ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้มาเติมเชื้อเพลิงใหม่ให้ภาคพลังงานในสูตรที่ผสมด้วยความ “ชัดเจน” และ “กล้าหาญ” เพื่อหวังจะสร้างประสิทธิผลอันเป็นรูปธรรม และเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยก้าวกระโดดไปไกลและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้