ภาคพลังงานในมุมมองของ ดร.พรชัย รุจิประภา

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1315 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาคพลังงานในมุมมองของ ดร.พรชัย รุจิประภา

 ดร.พรชัย  รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้สัมภาษณ์พิเศษ Energy Time Online ในประเด็นฮอตของภาคพลังงานที่คุณไม่ควรพลาด!

HI-LIGHT

การปฏิรูปด้านพลังงานสำคัญอย่างไร?

• สัดส่วนภาคพลังงานคิดเป็นร้อยละ 16 ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท
• สัดส่วนรายได้จากภาคพลังงานคิดเป็นร้อยละ 10-20 ของงบประมาณรายได้ของประเทศ 
• สัดส่วนหุ้นภาคพลังงานมีมูลค่าเกือบ 1 ใน 4 ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
• การเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม 
• นโยบายและการจัดการด้านพลังงานที่ดีจะทำให้ต้นทุนพลังงานลดลง และส่งเสริมการแข่งขันของประเทศ

อะไรคือจุดอ่อนของภาคพลังงาน?

• ความเชื่อของประชาชน
• ช่องว่างของการกำกับดูแล
• การจัดหาพลังงาน
• การจัดการด้านพลังงานทดแทน

ภาคพลังงานในมุมมองของ ดร.พรชัย

• ประเทศไทยพร้อมหรือยังสำหรับปิโตรเคมีเฟส 4?
• ประเทศไทยพร้อมหรือยังสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า?
• อะไรคือเรื่องเร่งด่วนของภาคพลังงานตอนนี้?

บทสัมภาษณ์ ดร.พรชัย  รุจิประภา


การปฏิรูปด้านพลังงานสำคัญอย่างไร?

ในส่วนของพลังงาน จริงๆแล้ว มันเป็นเหมือนกับสายเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากเรามาดูในแง่ของตัวเลข พลังงานมีสัดส่วนเป็นถึง 16% ของจีดีพี หรือประมาณ 2.2 ล้านล้าน ก็หมายความว่าสัดส่วนของพลังงานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้ ขณะเดียวกันหากเรามาดูตัวอื่นในแง่ของการลงทุน พลังงานไม่ใช่เป็นแค่การใช้ แต่มันเป็นเรื่องของการผลิตด้วย อย่างอุตสาหกรรมประเภทโรงกลั่น หรืออุตสาหกรรมประเภทปิโตรเคมี หรือว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ  ปี ๆ นึงมีการลงทุนอยู่ประมาณ 4-5 แสนล้าน ซึ่งนับว่าสูงนะครับ 

ขณะเดียวกัน รายได้ที่เกิดจากพลังงาน ปีๆ นึง 3-4 แสนล้าน ไปช่วยงบประมาณเรา ซึ่งอย่างงบประมาณเมื่อปีที่ผ่านมาประมาณ 2.9 ล้านล้าน เป็นส่วนที่เกิดจากรายได้ทางด้านพลังงานไป 3-4 แสนล้านแล้ว ก็คืออยู่ประมาณเกือบ 10% 12% นะครับ ขณะเดียวกันหากเรามาดูในแง่ของความสำคัญอีกอันหนึ่งนะ ใครเล่นหุ้นก็คงจะเห็นนะครับ พลังงานเข้าไปอยู่ประมาณเกือบ 25% หรือ 1 ใน 4 ของตลาดหลักทรัพย์นะครับ จะเห็นว่าหากเอาพลังงานออกนี่ หุ้นตกทันที เพราะเป็นเรื่องของสัดส่วนที่สูง เพราะฉะนั้น การจัดการเกี่ยวกับเรื่องของพลังงาน จึงมีความสำคัญ หากรัฐบาลมีนโยบายดี ๆ มันสามารถที่จะจัดการทำให้ต้นทุนพลังงานลดลงไปได้ แล้วก็จะทำให้ช่วยเสริมในเรื่องของการแข่งขันของประเทศได้นะครับ

ข้อเสนอในเรื่องของการปฏิรูปพลังงาน

ที่ผ่านมาเรามองว่า ในเรื่องของพลังงานมันก็มีจุดอ่อนอยู่หลายอย่างนะครับ อย่างเช่น ความเชื่อถือของประชาชน เราจะเห็นว่าจะไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน จะไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับพลังงานที่ไหนปุ๊บ เจอชาวบ้านประท้วง หรือเอ็นจีโอไปประท้วง ส่วนหนึ่งที่เรามองก็คือในเรื่องของข้อมูล คือพูด ๆ อะไรไป เอ็นจีโอบอกไม่เชื่อ เพราะว่าเป็นข้อมูลที่ออกมาจากภาครัฐ รายละเอียดต่าง ๆ มันทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการที่จะพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอุตสาหกรรมพลังงาน หรือว่าในเรื่องของการที่จะเอาพลังงานต่าง ๆ ขึ้นมาใช้นะครับ 

ส่วนที่ 2 ก็คือในเรื่องของการกำกับดูแล เมื่อสัก 4-5ปีที่แล้วที่เรามีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือที่เรียกว่า เรคกูเลเตอร์ (Regulator ) แต่ปรากฎกลายเป็นว่า ปัจจุบันมันก็ยังดูผสมกันไปผสมกันมาอยู่ ระหว่างการกำกับดูแลกับการกำกับนโยบาย เสร็จแล้วก็เกิดปัญหาว่า เอ๊ะ! จริง ๆ แล้วเป็นหน้าที่ใครนะครับ อันนี้ก็เลยทำให้เกิดเป็นช่องว่าง บางส่วนก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นนะครับ

ในจุดที่ 3 ก็คือ การจัดหาพลังงาน เรามีปัญหาในเรื่องของก๊าซในอ่าวไทยจะหมดนะครับ ซึ่งเราใช้มาตั้งแต่ปี 2524 สมัยโชติช่วงชัชวาลของท่านนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์  ดังนั้นที่เราใช้ ๆ มา มันก็ค่อย ๆ หมดลงไป ซึ่งตามแผนพีดีพี ปี 2015 เราก็วางไว้ว่า เราพยายามที่จะลดการใช้ก๊าซลงจาก 70% ลงมาเหลือแค่ 37%  ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเราไปใช้ก๊าซในทางท่อ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีต่าง ๆ มันเปลี่ยนไป ทำให้เราสามารถที่จะจัดหา LNG ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นคำว่าลดการใช้ก๊าซลงมาเหลือ 37% อาจจะไม่จำเป็นล่ะ เพราะก๊าซมันขนกันมาได้เหมือนถ่านหิน มันสามารถนำเข้ามาได้ และราคามันก็อยู่ในวิสัยที่พอสู้ได้  ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องของถ่านหิน ซึ่งก็มีการประท้วงกันเต็มไปหมดนะครับ เพราะฉะนั้น ในแง่ของการใช้ก๊าซ หรือว่าในแง่ของการใช้ถ่านหิน  การจัดหาพลังงานก็จัดเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ซึ่งตรงนี้จะต้องเข้าไปอยู่ในแผนการจัดหาพลังงาน หรือแผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้า ที่ทางสำนักนโยบายและแผนพลังงานจะต้องเป็นคนดำเนินการ

นอกจากนั้น ในเรื่องไฟฟ้าก็ยังมีประเด็นอีกว่า ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผลิตเสร็จแล้วก็ส่งไปตามสายไปที่ปลายทาง ชาวบ้านก็เอาไปใช้ แต่ขณะนี้ไม่ใช่ล่ะ ต่อไปมันไม่ใช่ล่ะ กลายเป็นว่าชาวบ้านเองก็เป็นผู้ผลิตได้ อย่างเช่นมีพลังงานทดแทนขึ้นมา มีโซลาร์ขึ้นมา มีเกี่ยวกับเรื่องของลมเข้ามาผสม มันทำให้ระบบสายส่งอาจจะต้องเปลี่ยน มีสมาร์ทกริดขึ้น หรือมีไมโครกริดขึ้น เพราะฉะนั้น การวางแผนต่าง ๆ มันจะต้องมีการปรับปรุงนะครับ อันนี้ก็คือเรื่องของไฟฟ้า

ส่วนเรื่องของทางด้านปิโตรเลียมเอง ก็มีในเรื่องของการจัดหาก๊าซ อย่างที่ผมเรียนนะครับว่าก๊าซมันจะหมด มันก็ต้องมีเรื่องของการนำเข้า ซึ่งการนำเข้าที่ผ่านมา ปตท.นำเข้าคนเดียว ก็มีคำถามว่าทำไม ปตท.นำเข้าคนเดียว คนอื่นก็นำเข้าได้เหมือนกัน ก็เตรียมเปิดให้นำเข้ามา เพื่อให้มีการแข่งขัน ซึ่งตรงนี้มันจะมีผลดีต่อราคา ราคาที่ขายก๊าซให้กับ กฟผ. หรือเอกชนที่ผลิต จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น  ซึ่งก็จะไปช่วยเรื่องของการผลิตไฟฟ้าให้ดีขึ้น ต้นทุนอาจจะลดลง อีกส่วนหนึ่งเลยที่สำคัญก็คือเรื่องของตัวโรงกลั่น เมื่อมีรถไฟฟ้ามากขึ้น การใช้น้ำมันก็จะเปลี่ยนรูปแบบ ขณะเดียวกันพอก๊าซหมด ซึ่งเดิมเราใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือเป็นก๊าซในปิโตรเคมี มันก็มีส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจะเอาพวก แนฟทา หรือผลผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นมาใช้ได้ เพราะฉะนั้น การวางแผนในส่วนนี้ จึงมีความสำคัญในเรื่องที่ว่า ทำอย่างไรที่เราจะสามารถรักษาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่อยู่ที่มาบตาพุดให้อยู่ตรงนั้น ได้ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะพัฒนาตัวอื่นต่อได้ ก็หมายความว่ามันจะไปปิโตรเคมีเฟส 4 ได้

เรามีความพร้อมหรือยังที่จะไปเฟส 4

จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีเรามีหมด นักลงทุนเราก็มีนะครับ ก็พวกกลุ่ม ปตท. กลุ่มปูนฯ ต่าง ๆ หรือว่าเอกชนไทยรายอื่นก็ยังมี เพียงแต่ว่าวัตถุดิบที่จะเอามาใช้ก็คือ แนฟทา ซึ่งเป็นของเหลวที่เกิดจากการกลั่น ถ้าเราไม่เอาจากโรงกลั่น เราก็ต้องไปซื้อนำเข้ามา ซึ่งปิโตรเคมีเฟส 4 ตัวนี้ มันจะเป็นปิโตรเคมีที่พิเศษกว่า เฟส 1 , เฟส 2 , เฟส 3  ซึ่งเราผลิตเฉพาะพวกเม็ดพลาสติก เอาไปทำพวกถุง ถัง กะละมัง หวี พวกนั้น แต่ในส่วนของเฟส 4 จะเป็นพวกพลาสติกเอนจิเนียริ่ง พวกพลาสติกเหนียว พลาสติกทนไฟ พลาสติกทนแรงเสียดทานได้เยอะ ๆ และสามารถที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งมันจะไปเข้ากับปิโตรเคมี 4.0 ได้เลยครับ

ด้านการจัดการพลังงานทดแทนจะเป็นอย่างไร?

จริงๆ แล้วเรื่องพลังงานทดแทนต้องขอเรียนเลยว่า ใช้ทดแทนได้บางอย่าง บางส่วนเท่านั้น เพราะยังไงๆ ก็ยังต้องใช้พลังงานหลักอยู่ อย่างเช่น เรื่องของปิโตรเลียม เรื่องของไฟฟ้า เรื่องของพลังงานทดแทนเป็นเพียงแค่เข้าไปเสริมนะครับ อย่างเช่น เรื่องของไบโอดีเซล  เรื่องของเอทานอลต่างๆ เรื่องไม้โตเร็ว เรื่องลม เรื่องของโซลาร์อะไรต่าง ๆ เรื่องพวกนี้ก็สามารถที่จะเอาเข้ามาเสริมได้  ถ้าหากเราจัดการได้ดี มันก็จะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่แต่เพียงสาขาพลังงาน มันจะเป็นประโยชน์ในแง่ของอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นประโยชน์กับเกษตรกรในแง่ของการที่จะปรับเปลี่ยนในเรื่องของการปลูกพืชอื่น มาเป็นปลูกพืชที่เป็นพลังงานแทน

โซลาร์เซลล์จะได้รับการส่งเสริมมากน้อยแค่ไหน?

เราก็พยายามจะส่งเสริมนะครับ  อย่างเช่นเรื่องโซลาร์เซลล์เสรีที่ให้ชาวบ้านประชาชนสามารถที่จะติดตั้งได้ แล้วก็ขายเข้ามาในเขต แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังต้องมีกฎระเบียบของการที่จะขาย อย่างสมมติผมผลิตแล้วขายเข้าระบบของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค เขาเองก็ต้องมีกฎระเบียบของเขา เพื่อไม่ให้ระบบของเขาเสียใช่ไหมครับ หรือในขณะเดียวกัน ก็อาจจะเป็นลักษณะของการขายกันเอง อย่างผมผลิตมาแล้วให้เช่าหลังคาบ้าน แล้วมีเอกชนมาติดต่อว่าเขาจะลงทุนให้แล้วเขาขายไฟให้เขา อันนี้ก็เป็นไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นกฎระเบียบต่าง ๆ พวกนี้มันจะต้องมีการวางแผนและจัดการที่จะให้เกิดธุรกิจพวกนี้จริง ๆ  

อีกอย่างนึงคือเรื่องของการประหยัดหรือการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น การสร้างอาคารต่าง ๆ จะทำยังไงให้ประหยัด และมีการควบคุมการใช้ไฟในอาคาร เพราะฉะนั้นมันจะต้องมี Building Code ที่จะเข้ามาจัดการ เพื่อให้การใช้ไฟและการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจจะมีการติดตั้งพวกโซลาร์เซลล์บนหลังคา แล้วก็เอามาใช้ร่วมกันอะไรต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการคิดว่า เราจะปฎิรูปไปทางไหน

คณะกรรมการฯ มีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานบ้างหรือไม่

ส่วนใหญ่ทางคณะผมค่อนข้างที่จะดีนะครับ เพราะว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รู้  เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานทั้งนั้น  และส่วนใหญ่เรามองกันในเรื่องของการปฏิบัตินะครับ เช่น เรื่องบางอย่างซึ่งมันปฏิบัติไม่ได้ ก็เก็บไว้ก่อน เอาที่ปฏิบัติได้จริง  และบางอย่างก็อาจจำเป็นที่จะต้องศึกษาลงลึกลงไปในรายละเอียด อย่างกรณีของรถไฟฟ้า ซึ่งทุกคนจะคิดว่าน่าจะมีการเอามาใช้ในประเทศไทย แต่คณะเรามองว่า  จริงๆ แล้ว มันเร็วเกินไปไหมกับการที่จะเอามาใช้ ประเด็นของเราคือ 1. เรามีอุตสาหกรรมรถยนต์ยิ่งใหญ่ของเราอยู่แล้ว 2. ประชาชนเราเองก็คุ้นเคยกับการใช้รถที่ใช้น้ำมันต่าง ๆ  3. ปั้มน้ำมันต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ทั่วไป ซึ่งมีความสะดวกสบายพอสมควร ทีนี้ปรากฏว่า เผื่อเราเกิดเอารถไฟฟ้ามาใช้ คำถามก็คือว่า เอามาใช้เพื่ออะไร ผลิตมาเพื่อจะส่งออกหรือผลิตมาเพื่อใช้เอง แล้วถ้าผลิตมาเพื่อใช้เอง เราก็ต้องผลิตไฟฟ้า  ผมยกตัวอย่าง กรณีบ้านที่เป็นคอนโด มีประมาณซักร้อยห้อง แล้วเกิดทุกห้องมีรถ แล้วใช้รถไฟฟ้าหมด ปัญหาก็คือว่าไฟดับเลยนะครับ เพราะว่าการชาร์จรถยนต์ใช้ไฟเยอะนะครับ อย่างกรณีนี้ ผมก็ถามผู้เชี่ยวชาญว่า บ้านผมติดหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่ 15 แอมป์ ถ้าเผื่อผมมีรถไฟฟ้า ผมต้องใช้กี่แอมป์ ก็ใช้ประมาณเกือบ ๆ  50 แอมป์ เพราะฉะนั้น ไฟฟ้าที่มีอยู่ตามบ้านต่าง ๆ นี่ต้องเปลี่ยนระบบหมด การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาคเอง ก็ต้องวางแผนจัดระบบไฟใหม่หมดนะครับ คณะเราถึงได้บอกว่า ถ้าหากจะทำเรื่องนี้ ก็คงจะต้องบูรณาการกัน มีคณะกรรมการซึ่งบูรณาการกันระหว่างกระทรวงต่าง ๆ  กระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องถามว่า เขาจะส่งเสริมการผลิตรถไฟฟ้าไปเพื่ออะไร  เพื่อส่งออก หรือเพื่อใช้ในประเทศเอง แล้วก็แบตเตอรี่จะมาจากไหน อะไรต่าง ๆ  ในแง่ของกลุ่มพลังงานเองก็ต้องเตรียมปั้มชาร์จไฟ ในแง่ของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าภูมิภาค ก็ต้องเตรียมไฟนะครับ

กระทรวงพลังงานตั้งเป้ารถไฟฟ้าไว้ที่ 1.2 ล้านคัน จะเป็นไปได้หรือไม่?

ตอนนี้ก็น่าจะทำได้นะครับ แต่เพียงแต่ว่า มันควรจะย้อนถอยหลังกลับมาหนึ่งก้าวไหม เพื่อลงมาดูว่า จริง ๆ แล้วนี่เราพร้อมรึยัง เราทำไปเพื่ออะไรนะครับ แต่จริง ๆ ผมก็เห็นด้วยนะ ในเรื่องของการที่จะมีรถไฟฟ้าอะไรพวกนี้ แต่ว่าอุตสาหกรรมเดิมซึ่งเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ทางด้านของรถยนต์ขนาดนี้ รถยนต์สไตล์ไฮบริดจ์ รถกระบะ รถบรรทุกอะไรต่างๆ ที่ส่งออก อุตสาหกรรมตรงนั้นเขาจะปรับตัวอย่างไร เขาต้องรู้

เรื่องเร่งด่วนในมุมมองของคณะกรรมการ

เรื่องแรกเลยก็คือเรื่องของการปรับในแง่ของตัวกฎระเบียบอะไรต่าง ๆ การปรับปรุงองค์กร อย่างเช่นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเขามีสัมปทานที่กำลังจะหมดในปี 2565 ของเดิมมันเป็นสัมปทาน แต่อันใหม่มันจะเป็นเรื่องของประมูล เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเตรียมตัวในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์  เรื่องที่สองก็คือเรื่องของเรคกูเรเตอร์ กฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาแล้วนี่ มีข้อไหนบ้างที่เขายังไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องมีการปรับปรุง แล้วก็แบ่งหน้าที่กันชัดเจนระหว่างกระทรวงกับกรรมการเรคกูเรเตอร์ที่เขาจะต้องทำ  เรื่องที่สามก็คือ แผนพีดีพีเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนิน ซึ่งสนพ.นี่เขาก็เดินหน้าไปแล้ว แต่ส่วนนึงที่เราบอกไปว่า ส่วนที่คุณเดินหน้านี่ คุณจะต้องมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ๆ นะ ในเรื่องของการจัดหา ในเรื่องของความเหมาะสม ในเรื่องของคนเขาเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องถ่านหิน เรื่องก๊าซ เรื่องแอลเอ็นจี เรื่องของเขตสายส่ง เมื่อก่อนไม่เคยพูดถึง แต่ตอนนี้ก็ต้องมีแล้วเรื่องสายส่ง ในเรื่องของพลังงานทดแทนที่จะเข้ามา  อีกเรื่องนึงที่สำคัญก็คือ เรื่องของการจัดหาก๊าซ ระเบียบการจัดหาก๊าซจะเป็นอย่างไร ใครที่จะเอาเข้ามา 

ขั้นตอนต่อไปของการปฏิรูปภาคพลังงาน

ตอนนี้ก็รอนำแผนโร้ดแมปเข้าไปเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีท่านนายกฯเป็นประธาน  หลังจากนั้นก็ต้องเสนอเข้าที่สภาฯ เพื่อให้ทาง สนช.รับทราบแล้วก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็คือประกาศออกมาใช้ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้