โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ...อนาคตที่สดใส

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  3470 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ...อนาคตที่สดใส

โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ...อนาคตที่สดใส
กระแส Disruptive Technology  หรือ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า และสามารถเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และเศรษฐกิจโลก) นำมาซึ่งความตื่นตัวอย่างใหญ่หลวงในแวดวงพลังงาน หลายองค์กรจึงปรับตัวมุ่งหน้าค้นหาเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ การทำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่วางแผงโซลาร์เซลล์บนบกที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก หากต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นเท่าไร พื้นที่วางแผงโซลาร์เซลล์ก็ย่อมต้องมากขึ้นเท่านั้น



หลายประเทศจึงเริ่มมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว  และประเทศไทยเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้  โดยเฉพาะหลังจากที่ เอสซีจี เคมิคอล ได้เปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ด้วยการนำเม็ดพลาสติกที่ผลิตได้ในประเทศมาออกแบบเป็นทุ่นลอยน้ำเพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 1 เมกะวัตต์ จนกลายเป็นโครงการต้นแบบ และเป็นเทคโนโลยีของคนไทยที่ปลุกกระแสการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ในประเทศ



ด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่มีแหล่งน้ำจำนวนมาก และยังมีแสงแดดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีแหล่งน้ำในเขื่อนผลิตไฟฟ้าและอ่างเก็บน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสนใจการผลิตไฟฟ้าประเภทนี้ และได้ริเริ่มโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ หรือเขื่อนขนาดใหญ่ของ กฟผ. ด้วยความร่วมมือกับ เอสซีจี เคมิคอล ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิตทุ่นลอยน้ำ จนเกิดเป็นโครงการนำร่อง ขนาดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 250-500 กิโลวัตต์ ติดตั้งที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ.กาญจนบุรี เพื่อผลิตและใช้ไฟฟ้าภายในเขื่อนเท่านั้น โดยคาดว่าจะดำเนินการสร้างเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562
นอกจากนี้  กฟผ. ยังมีแผนทำโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำระยะที่ 2  ซึ่งคณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติให้ลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 45 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยโครงการนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าขายส่งที่ประมาณ 2.40 - 2.50 บาทต่อหน่วย


 
เนื่องจาก กฟผ .มีเขื่อนและแอ่งน้ำที่มีศักยภาพในทำโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้โครงการนี้สามารถต่อยอดเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำระยะที่ 3  ซึ่งจะเป็นโครงการที่ขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ เบื้องต้น กฟผ.มีแนวทางที่จะดำเนินการในเขื่อนของ กฟผ. ที่มีอยู่ 11 แห่งในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ก็จะต้องขึ้นอยู่กับความชัดเจนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือพีดีพีฉบับใหม่ด้วยว่าจะให้ดำเนินการต่อเนื่องหรือไม่
หากโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำระยะที่ 3  สามารถเกิดขึ้นได้ กฟผ. ก็จะใช้วิธีเปิดประมูลหาผู้ร่วมโครงการ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการในประเทศหรือต่างประเทศ



ดูไปแล้ว อนาคตของโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าน่าจะสดใส เพราะนอกจากจะได้ไฟฟ้ามาใช้แล้ว ยังช่วยลดการระเหยของน้ำ และยังทำให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น โดยในช่วงกลางวันจะเน้นการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ส่วนในช่วงกลางคืนที่ไม่มีแสงแดดก็จะผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนแทน  โดยมีผู้ประเมินว่า โครงการนี้มีศักยภาพที่ผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 10,000 เมกะวัตต์  จากการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม การที่จะให้โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น จำเป็นจะต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในเขื่อน และประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ เพื่อที่ว่าเราจะได้เห็นประโยชน์และผลกระทบในมิติต่าง ๆ จากโครงการนี้อย่างชัดเจน


 
ท่ามกลางกระแสตื่นตัวในนวัตกรรมด้านพลังงานแห่งยุคสมัย “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของ กฟผ. การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด  และตอบสนอง Disruptive Technology  ไปพร้อม ๆ กัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้