ปตท. จุดพลังพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติ

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  828 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จุดพลังพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติ

ปตท. จุดพลังพัฒนานวัตกรรมแห่งชาติ

“Creativity Unlimited” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นได้ไม่จำกัด” คือคำจำกัดความที่ คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กำลังมุ่งขยายผลไปที่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ เหมือนที่เกาหลีใต้เคยใช้โมเดลนี้ในการปรับโครงสร้างประเทศ จนกลายเป็นชาติที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยได้มีนวัตกรรมของตนเอง ปตท. จึงเริ่มสร้างสรรค์โอกาสการลงทุนในด้านนี้ ด้วยการจัดทำแผนการพัฒนาโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เริ่มจากการพัฒนาโครงการวังจันทร์วัลเลย์ ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งโครงการ EECi นี้ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลกำลังพัฒนายกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท ตามนโยบาย Thailand 4.0

ในการพัฒนาโครงการ EECi นี้ ปตท. ได้จัดสรรงบประมาณในเฟสแรก จำนวน 2,900 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านเทคโนโลยี วัสดุ พลังงานทดแทน และดิจิทัล รองรับกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EECi และตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับอาเซียนต่อไป

โครงการวังจันทร์วัลเลย์ในเฟสแรกนี้จะมีพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ โดยปตท. จะเป็นผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาถนน ไฟฟ้า ประปา และจะเสนอให้ผู้ประกอบการในและต่างประเทศเข้ามาเช่าพื้นที่ ตั้งเป้าที่จะมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาจองพื้นที่ในเฟสแรกประมาณ 10-20 ราย ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม ปตท. ได้ซื้อใบอนุญาตการใช้เทคโนโลยีตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาทิ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในอาเซียน ที่จะเน้นไปใน 4 ด้าน ได้แก่ Smart City, Bio Technology, Artificial Intelligence (AI) และ Energy โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงต้นปีหรือกลางปี 2562 และจะเปิดให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2564

ในเบื้องต้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สนใจเข้ามาจองพื้นที่จำนวน 100 ไร่ ภายใต้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารต่าง ๆ และจะมีบริษัทในกลุ่ม ปตท.เข้ามาจองพื้นที่เป็นศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท.ด้วย อาทิ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่จะเข้ามาจัดตั้ง Technology & Innovation Center เพื่อวิจัยและพัฒนาเรื่องโดรนที่ใช่ตรวจท่อ และการบำรุงรักษาใต้ดิน เป็นต้น

ทั้งนี้ ปตท. จะเริ่มเดินสายโรดโชว์ในรูปแบบ Dinner Talk เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนมาใช้พื้นที่สำหรับตั้งโรงงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท โดยสามารถใช้เครื่องมือวิจัยส่วนกลางร่วมกันได้ ซึ่ง ปตท.คาดว่าจะเริ่มโรดโชว์ครั้งแรกในช่วงกลางปี 2562 เป็นต้นไปจนถึงปี 2568

สำหรับพื้นที่ EECi กว่า 3,500 ไร่ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.Community Zone 2.Innovation Zone และ 3.Education Zone ซึ่งจะมีการจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (XVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VITEC) ที่เป็นโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และงานวิจัยต่าง ๆ

“เมื่อโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จะช่วยให้ประเทศไทยลดการขาดดุลการค้าในกรณีที่ต้องซื้อใบอนุญาตการใช้นวัตกรรมของต่างประเทศ และช่วยเปิดโอกาสให้นักวิจัยของไทยกลับเข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ประเทศ สร้างงานสร้างรายได้ให้คนไทย” นายชาญศิลป์กล่าว

นอกจากนี้ ปตท. ยังมีการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (New S-Curve) เพื่อการเติบโตในระยะยาวควบคู่กับการตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 โดยจะทำการศึกษาโครงข่ายธุรกิจไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจใหม่ด้านอื่น ๆ เช่น Life Science, Material Science ที่เกี่ยวข้องกับการนำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านหุ่นยนต์ เครื่องจักรกล และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics/AI) หรือการลงทุนในรูปแบบสตาร์ทอัพ Corporate Venture Capital (CVC) ที่จะทำให้ ปตท. เติบโตอย่างยั่งยืนและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้