GC เน้นลงทุนใน CLMV และการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  700 จำนวนผู้เข้าชม  | 

GC เน้นลงทุนใน CLMV และการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม

GC เดินหน้าขยายการลงทุน
GC เดินหน้าขยายการลงทุนตามแผน 3 ปี ใช้เงินลงทุน 1 แสนล้านบาท เน้นลงทุนใน CLMV และการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนการประกาศใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% ไม่กระทบบริษัท

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ว่า บริษัทจะเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการลงทุนในกลุ่ม CLMV คือ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมองการลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มลงทุนจากด้านการตลาดเพื่อสร้างฐานทางธุรกิจแล้วค่อยต่อยอดการลงทุนไปในธุรกิจอื่นๆ โดยมองการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีขึ้นปลายในอินโดนีเซีย

ส่วนการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอเมริกาก็ยังอยู่ในการศึกษาและยังสนใจลงทุนอยู่ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากแหล่งนั้นไม่แพง สามารถที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีได้ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า

สำหรับการลงทุนในช่วง 3 ปี (ปี 2562-2564) คาดว่าจะใช้เงินลงทุน ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่กว่า 7 หมื่นล้านบาท จะเป็นการลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ และโครงการ Propylene Oxide (PO) / Polyols คาดว่าการก่อสร้างโรงงานจะแล้วเสร็จในปี 2563 ส่วนที่เหลืออีก ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จะใช้ลงทุนในโครงการเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ เพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง High Heat Resistant Polyamide-9T (PA9T) และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymers (HSBC) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้เร็วๆ นี้

นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวถึง กรณีที่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แหล่งบงกชและเอราวัณ หลังสัมปทานเดิมจะหมดอายุในปี 2565-2566 ในราคาต่ำ GC ซึ่งเป็นผู้ซื้อก๊าซอีเทนและโพรเพนจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่รับก๊าซฯ มาจาก ปตท.สผ. ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นช่วงที่หมดสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จึงต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อไป

ส่วนการที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ประกาศให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% จาก 3.5% ในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 บริษัทคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยจากเรื่องนี้ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทสามารถผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำได้ และยังผลิตน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยุโรป ระดับ 5 (EURO 5) ซึ่งสามารถที่จะนำน้ำมันดีเซลไปผสมกับน้ำมันเตาให้ได้ตามมาตรฐานของ IMO ได้ ประกอบกับคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวความต้องการใช้น้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้น จึงไม่กระทบมากนัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้