พลังงานจาก‘กากกาแฟ’...เชื้อเพลิงลดโลกร้อน

Last updated: 2 มิ.ย. 2563  |  8397 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลังงานจาก‘กากกาแฟ’...เชื้อเพลิงลดโลกร้อน

พลังงานจาก‘กากกาแฟ’...เชื้อเพลิงลดโลกร้อน

ในปัจจุบัน คนทั่วโลกมีการดื่มกาแฟกว่า 2 พันล้านแก้วต่อปี และสร้างขยะเป็นจำนวนมากจากบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้แล้วทิ้ง ซึ่งถึงแม้ร้านกาแฟบางแห่งจะเริ่มหันมาใช้ความสำคัญกับปัญหานี้ เช่น การใช้แก้วที่ผลิตจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ และยังมีอีกปัญหาที่มักจะถูกมองข้าม นั่นคือ ขยะจากกากกาแฟที่มีปริมาณกว่า 6 ล้านตันต่อปี และปัจจุบันถูกจัดการด้วยวิธีฝังกลบซึ่งส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพราะการย่อยสลายกากกาแฟเหล่านั้นจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนออกมาสู่บรรยากาศ

การเล็งเห็นถึงปัญหานี้คือจุดกำเนิดของ Bio-Bean สตาร์ทอัพสัญชาติอังกฤษ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนากระบวนการเปลี่ยนกากกาแฟให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยใช้กากกาแฟในปริมาณ 7,000 ตันต่อปีเพื่อผลิตไบโอดีเซล

ในปี 2017 Bio-Bean ได้พัฒนาการผลิตไบโอดีเซลจากกาแฟสำหรับรถเมล์ที่ให้บริการในลอนดอน แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ในเชิงพาณิชย์ บริษัทจึงหันมาผลิต Coffee Logs หรือ ถ่านจากกากกาแฟ สำหรับใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรมควบคู่กันไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ



อย่างไรก็ดี ถึงแม้การใช้ถ่านจากกากกาแฟจะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อถูกเผา แต่บริษัทประเมินว่า หากมีการนำเชื้อเพลิงชนิดนี้มาใช้แทนเชื้อเพลิงที่มีส่วนประกอบของคาร์บอนอื่น ๆ ก็จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับการนำกากกาแฟไปฝังกลบแบบเดิม

ถ่านจากกากกาแฟนี้สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำอุตสาหกรรม ให้ความร้อนแก่เรือนกระจก หรือการอบแห้งธัญพืช อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับให้ความร้อนในเตาเผาได้ด้วย ทั้งนี้ กาแฟถือเป็นพืชที่มีค่าความร้อนสูง และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเป็นเชื้อเพลิง โดยถ่านจากกากกาแฟเมื่อเผาแล้วสามารถให้ความร้อนได้มากกว่าถ่านไม้ธรรมดาถึง 20% และเผาไหม้ได้นานกว่า 20%

อย่างไรก็ดี นักวิจัยด้านพลังงานที่ยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ให้ความเห็นว่า กากกาแฟรีไซเคิลมีศักยภาพในการนำมาเป็นเชื้อเพลิงก็จริง แต่จำเป็นต้องการประเมินและเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกากกาแฟด้วย เช่น การใช้เทคโนโลยีเตาเผา หรือใช้เป็นวัสดุคลุมดิน

นอกจากนี้ กากกาแฟยังมีปริมาณซัลเฟอร์และไนโตรเจนสูงกว่าไม้ทั่วไป ซึ่งเมื่อเผาไหม้อาจจะปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายเช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ได้

แต่ทาง Bio-Bean ให้ความมั่นใจว่า เชื้อเพลิงชีวมวลชนิดแข็งของบริษัทได้รับการรับรองหน่วยงานด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืนของสหราชอาณาจักร และถ่านจากกากกาแฟยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าถ่านไม้ส่วนใหญ่

ปัจจุบัน Bio-Bean ได้ดำเนินการรีไซเคิลกากกาแฟรวมแล้วกว่า 20,000 ตัน แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งทำให้ร้านกาแฟส่วนใหญ่ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ก็อาจส่งผลให้ปริมาณการรีไซเคิลกากกาแฟลดจำนวนลงในปีนี้

ที่มา : https://edition.cnn.com/2020/05/14/business/coffee-grounds-recycling-gec-spc-intl/index.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้