ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)

Last updated: 7 ก.พ. 2564  |  1237 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)

SUPER เตรียมแผนขยายพลังงานลมในทะเล ที่ญี่ปุ่นเพิ่ม


SUPER เตรียมขยายการลงทุนพลังงานลมในทะเล ที่ญี่ปุ่นเพิ่ม หลังมีแผนลงทุนในเวียดนาม 3 หมื่นกว่าล้านบาท และยังมีแผนจะขยายการลงทุนไปประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ไม่กระทบการดำเนินงานของบริษัท พร้อมผลักดันโครงการลงทุนตามแผนที่จะมีพลังงานอีก 421 เมกะวัตต์ในปีนี้ และอีก 170 เมกะวัตต์ในปีหน้า ประกาศใน 5 ปีนี้ยังเติบโตในพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง


นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม จากปีที่ผ่านมามีการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง มีกำลังการผลิตรวม 421 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2564 นี้ โดยใช้เงินลงทุนในโครงการ ประมาณ 25,000 ล้านบาท ในขณะที่ในปี 2565 จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเกิดขึ้นอีก 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 170 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 8,000 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงกลางปีหรือปลายปีนี้ ทางเวียดนามจะมีการประกาศเปิดให้มีการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) เฟส 3 ก็กำลังรอดูว่าจะประกาศออกมาเท่าไร ซึ่งคาดว่าน่าจะประกาศออกมาประมาณ 2,000-3,000 เมกะวัตต์


ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าของเวียดนามเพิ่มขึ้น เพราะมีฐานกำลังการผลิตจากประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ย้ายไปตั้งที่เวียดนาม แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของเวียดนามกับจีน ยังเป็นบวกอยู่ และการลงทุนทางตรง (FDI) เข้าไปลงทุนในเวียดนามเยอะมาก ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ประกอบกับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ต้องใช้เวลาสร้างนาน 3-5 ปี ทำให้ไม่ตอบโจทย์การใช้พลังงานของเวียดนาม จึงต้องมีการเปิดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมารองรับตรงส่วนนี้


การที่ SUPER ไปขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมมากขึ้นในเวียดนาม เนื่องจากเราเป็นนักลงทุน เมื่อรัฐบาลเวียดนามออกใบอนุญาตประเภทไหนมาก็จะทำหมด ไม่ได้เลือกว่าจะเป็นแสงอาทิตย์หรือลม แต่เราลงทุนได้ทั้งสองอย่าง เพราะเรามีความชำนาญในการทำทั้งสองประเภท เมื่อออกพลังงานลมมากมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าศักยภาพของลมที่เวียดนามดีมาก ก็เลยมีการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมออกมา SUPER จึงเข้าไปรองรับตรงส่วนนี้กับการขยายที่เค้าต้องการ


นอกจากนี้ พลังงานแสงอาทิตย์และลม รัฐบาลเวียดนามยังมีแผนในการผลิตไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ แต่ SUPER ยังไม่มีความพร้อมทางด้านนี้ที่จะเข้าไป และยังมีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินกับก๊าซฯ ซึ่งก็มีบริษัทฯของประเทศไทยเข้าไปทำ ซึ่งทาง SUPER ไม่ได้ทำทางด้านนี้ เพราะต้องการทำพลังงานทดแทน


สำหรับการทำงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยากขึ้นนิดนึง เพราะโครงการส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ จึงมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วย ส่วนเรื่องโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเหมา (EPC) ของเราจะต้องไปจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งในภาพรวมแล้วมีการล็อกราคาค่าก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ทำให้ต้นทุนไม่เพิ่มขึ้น
ส่วนแผนที่จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ยังไม่มีผลกระทบ เพราะปลายปีเพิ่งจะ COD โครงการในเวียดนามไป 550 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนนั้นทำได้ลงตัวและตรงต่อเวลา ปัจจุบันจากการมอนิเตอร์ยังไม่มีผลกระทบอะไร แต่ต้องดูเดือนต่อเดือน เพราะเปลี่ยนเร็วก็ต้องปรับให้ดีที่สุด


วันนี้ SUPER มีโครงการอยู่ที่เวียดนาม กำลังการผลิตรวม 836 เมกะวัตต์ ก็มีคนทำงานที่เป็นทั้งคนไทย และคนเวียดนาม ดูแลโครงการที่จ่ายไฟฟ้าไปแล้วได้อย่างไม่มีปัญหา


ส่วนกำลังการผลิตรวมทั้งหมดจะอยู่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ถ้าโครงการในเวียดนามแล้วเสร็จในปีนี้ ก็จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นขึ้นเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ในปีถัดไปอีกประมาณ 170 เมกะวัตต์ และคาดว่าน่าจะมีเพิ่มเติมอีก ดังนั้น ก็มีการวางแผนการเติบโตในปีนี้ไว้ประมาณ 500 เมกะวัตต์ จากปีก่อนหน้าที่เติบโต 700 เมกะวัตต์ และปีถัดไปน่าจะเติบโตประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นขนาดที่เหมาะสมกับบริษัทเรา ที่จะเติบโตประมาณปีละ 30%


โดยการวางแผนการลงทุนในช่วงนี้ จะดูในช่วง 2 ปีก่อน ยังไม่ได้มองเป็นแผนระยะยาวมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส-19 แต่ก็ได้มองแผนระยะเวลา 5 ปีไว้ด้วย แต่ในช่วงโควิด-19 การเดินทางของแต่ละประเทศยากมาก และการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยก็ไม่น่าจะเยอะมาก จะมีการเติบโตในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ และอาจจะมี Private PPA ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงได้ตั้งเป้าว่าในดำเนินการประมาณ 50-100 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย


“ในเมืองไทยต้องยอมรับช่วงนี้ เศรษฐกิจถดถอย ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าลดลง มีประมาณสำรองสูง เพราะฉะนั้นในช่วงนี้คงไม่มีใบอนุญาตอะไรใหม่ ๆ ออกมา ประกอบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาเยอะแล้ว ก็ค่อนข้างจะเต็ม” นายจอมทรัพย์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดไฟฟ้าในเวียดนาม ยังมีการเติบโตอีกอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจที่เมื่อมีการเติบโตมาก ๆ จะมีการสร้างไปจนเต็ม เมื่อเต็มแล้วการเติบโตก็โตเป็น Percentage เติบโตประมาณปีละ 10% แต่วันนี้ตลาดยังขาดอยู่ เมื่อสร้างกันจนเต็มแล้วก็ต้องย้ายไปประเทศอื่น คล้าย ๆ กับประเทศไทย วันนี้จะเห็นการเติบโตไม่เยอะแล้ว


ที่ผ่านมาทาง SUPER ได้รับโครงการผลิตไฟฟ้าในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แม้การเข้าไปลงทุนในเวียดนามจะมีคู่แข่งมาก แต่เราเป็นรายแรก ๆ ที่เข้าไปในเวียดนามเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว แต่บริษัทใหม่ ๆ เพิ่งเข้าไปในเวียดนามได้ประมาณ 1-2 ปี เรามีออฟฟิศ มีบุคลากร ทุกอย่างที่พร้อมมาก ในแง่ของตลาดเวียดนามถึงได้เติบโตเร็วกว่าคนอื่น และทำให้เราได้โครงการหลายโครงการ


ประเทศที่มองว่าจะมีการเติบโตหลังจากนี้ ก็จะเป็นประเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นก็จะเป็นประเทศเมียนมา ซึ่งวันนี้ SUPER มีการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใน 2 ประเทศ คือ ไทย และเวียดนาม แต่เรามีบริษัทที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แต่ไม่มีโครงการที่โอเปอเรท


เมื่อมองเป็นรายประเทศ ประเทศญี่ปุ่น มีนักลงไทยเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้ามากมายหลากหลายประเภท แต่มองว่าจะเริ่มเติบโตในส่วนของพลังงานลมในทะเล ที่ญี่ปุ่นกำลังจะเริ่ม และ SUPER ก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ เพราะได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลแล้ว 2 โครงการ ทำให้เรามี Reference และมี Knowhow จึงมองว่าตลาดพลังงานลมที่จะเปิดที่ญี่ปุ่น เราน่าจะเข้าไป Take Awareness ได้ จากที่เข้าไปก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแค่โซลาร์ฟาร์มเท่านั้น


สำหรับอินโดนีเซีย ต้องยอมรับว่าถ่านหินเยอะมาก วันนี้ใช้ถ่านหินเป็นหลัก แต่ว่าปัญหาโลกร้อน จึงต้องมีการเติบโตใน Renewable เพื่อมาลดสัดส่วนของถ่านหิน จึงจะทำให้มีเติบโต ก็มองว่าจะเติบโตในอีก 3-5 ปีข้างหน้า


ส่วนเมียนมา ได้มีการจับตาดูการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ที่เปิดให้มีรับซื้อครั้งล่าสุด ราคาในการประมูลออกมาต่ำมาก จึงไม่มีนักลงทุนไทยเข้าไปประมูล จึงต้องดูว่าโครงการจะทำได้หรือไม่ เหมือนกับที่เคยมีการเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กัมพูชา เสนอราคาเข้ามาต่ำมาก จึงไม่ได้สร้าง ซึ่งอะไรก็ตามที่ราคาต่ำมาก SUPER ก็ไม่ทำ เพราะเรายังมีทางเลือกในการลงทุน ซึ่งกัมพูชาอาจจะมีการเติบโตด้านไฟฟ้าอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ดังนั้น ประเทศที่ SUPER จะไปลงทุนแน่ ๆ คือ ญี่ปุ่น อินโด และฟิลิปปินส์ หลังจากนั้น 3-4 ปี ตลาดไฟฟ้าในเมียนมาจะมีความพร้อมก็จะเข้าไปตลาดเมียนมาได้


ด้านประเทศไต้หวัน ก็มีการมอนิเตอร์อยู่แต่ว่ามีรายใหญ่เข้าไปลงทุนเยอะมาก การที่จะเข้าไปตรงส่วนนั้นอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนคืนกลับมาเท่าที่ต้องการ เพราะกลยุทธ์การเข้าไปซื้อธุรกิจส่วนใหญ่ของ SUPER จะมีผลตอบแทนการลงทุนต่อโครงการ (IRR) ประมาณ 13-15%


นายจอมทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจใหม่ภายหลัง New normal มองว่าแล้วแต่ละบริษัทมีความพร้อมและมีทุนไม่เหมือนกัน ในแง่ของ SUPER มองว่าตลาดไฟฟ้ายังมีโอกาสที่จะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ เป็น 10 ปี และวันนี้เงินที่เราได้ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องไป Diversify ที่จะไปลงทุนธุรกิจอื่น ๆ เพราะต้องใช้ลงทุนโครงการในมือที่มีอยู่ก่อน แต่ถ้าบริษัทอื่นที่เป็นบริษัทใหญ่มาก มีทุนเหลือเยอะ ก็น่าจะขยายไลน์ไปในธุรกิจอื่นได้


ดังนั้น พูดได้ว่าภายใน 5 ปีนี้ เรายังเติบโตอยู่ในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งการที่ไม่กำหนดช่วงเวลานานกว่านี้ถึง 10 ปี เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมาเยอะมาก เพียงแต่ว่ายิ่งออกมาเยอะก็มายิ่งดีกับเรา เพราะวิธีที่เราผลิตไฟ เราใช้เทคโนโลยี ไม่มีต้นทุนวัตถุดิบ และวันนี้ยังไม่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมีความชัดเจนแล้วว่ามี 4 ธุรกิจหลัก คือ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานขยะ และธุรกิจขายน้ำประปาหรือน้ำดิบ และมีธุรกิจที่เริ่มต้นมาตอนแรกคือ ธุรกิจไอที


เรื่องของการทำ Energy Storage ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีความเสถียร ก็กำลังมองว่าอาจจะมี 2 วิธีที่จะดำเนินการ คือ ทำเอง ใช้เอง หรือซื้อคนอื่น วันนี้มองตลาดอยู่ที่การซื้อน่าจะถูกกว่าการผลิตเองใช้เอง จึงยังไม่ได้เข้าไปดูในส่วนนั้น แต่ก็ต้องติดตามตลอด เพราะต้นทุนจะเปลี่ยนเร็วมาก ถ้าเกิดวันไหนต้นทุนถูกลงมาก ทำให้ผลิตเองใช้เองได้ก็อาจจะทำ แต่วันนี้ยังไม่ได้ไปถึงจุดที่จะทำ


เรื่องของการทำพลังงาน Hybrid มีการทำอยู่แล้ว โดยได้ประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าที่ผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์กับชีวมวล ขนาด 49 เมกะวัตต์ และมีการติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เวลาสร้าง 2 ปี โครงการตั้งอยู่ที่ จ.สระแก้ว เป็นการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ณ วันนี้ยังไม่ได้สร้าง เพราะต้องขายไฟ 24 ชั่วโมง จึงต้องคุยกับทาง กฟภ.ก่อน ส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่จะมีการเปิดให้มีการประมูลโครงการโรงไฟฟ้า Hybrid ก็สนใจ แต่ต้องดูว่าจะเปิดยังไง


สำหรับผลประกอบการปี 2563 ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแง่ของรายได้ กระทบแค่การทำงานยากขึ้น แม้ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะลดลง แต่เรามีสัญญาที่ขายให้กับการไฟฟ้า จึงไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเคยประมาณรายได้ในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ปี 2564 เติบโตประมาณ 10,000 ล้านบาท และปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 13,000 ล้านบาท โดยจะเติบโตประมาณปีละ 30%


สำหรับกระแสเงินสดของบริษัทฯ ทุกวันนี้มีรายได้เข้าทุกเดือน ๆ ละ 600 กว่าล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับลงทุนในโครงการที่มีอยู่ และโครงการใหม่ ๆ แต่ในปีนี้มีแผนจะออกหุ้นกู้ประมาณ 2 รอบ ซึ่งต้องดูความต้องการใช้เงินก่อน โดยปีก่อนได้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้