ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

Last updated: 16 ก.ย. 2564  |  930 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ปตท.สผ. ขอเวลา 1 ปี ปรับโครงสร้างพลังงานใหม่

ปตท.สผ. ขอเวลา 1 ปี ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ หาธุรกิจที่น่าสนใจเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยี เดินหน้าสู่การเป็นบริษัท Low Carbon มองว่าธุรกิจก๊าซธรรมชาติยังเป็นพื้นฐานการสร้างไฟฟ้าที่สะอาด ส่งเสริม AI & Robotics ทำ Carbon Capture และศึกษาการทำไฮโดรเจน มีเป้าหมายที่จะเห็นกำไรในธุรกิจที่ไม่ใช่ Oil & Gas ประมาณ 20%

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ (Energy Transition) ซึ่งกำลังเป็นทิศทางการลงทุนที่น่าสนใจ โดยจะขอเวลา 1 ปี ในการสร้างความชัดเจนว่า ปตท.สผ. จะเดินไปในทิศทางไหน เนื่องจากคาดว่าในอนาคตการพัฒนาแหล่งพลังงานจะเริ่มลดลง แม้จะมองว่าในอนาคตข้างหน้าจะไม่ได้เปลี่ยนผ่านจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ แต่มีเป้าหมายที่จะมุ่งหน้าไปสู่การเป็น Low Carbon ซึ่งจะต้องมีเทคโนโลยีในการที่จะรับมือกับภาวะก๊าซเรือนกระจก โดยการใช้พลังงานแบบเดิมยังคงมีความจำเป็น แม้จะมีแนวโน้มที่จะลดการใช้ลงอย่างแน่นอน หรืออาจจะถูกปรับเปลี่ยนให้เกิดการใช้ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยจัดการ

“การเปลี่ยนเป็น Energy Transition เป็นการยืดเวลาธุรกิจ E&P ที่มาจากฟอสซิล ที่เรารู้ว่าทำให้โลกไม่สะอาดเท่าที่ควร แต่จะทำให้โลกรู้ว่า ปตท.สผ. จะทำทุกอย่างให้เป็น Low Carbon โดยมองว่าธุรกิจก๊าซฯ เป็นตัวพื้นฐานในการสร้างพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดในระดับหนึ่ง เพราะการทำพลังงานหมุนเวียน ยังมีต้นทุนค่อนข้างสูง ก๊าซฯ น่าจะเรียกว่าเป็น Transition ได้ในอนาคต” นายพงศธร กล่าว

โดยในส่วนของการทำธุรกิจขุดเจาะ สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม (E&P) จะมีการทำ Carbon Capture ที่ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการผลิตปิโตรเลียม โดยใช้เทคโนโลยีในการดักจับและส่งกลับลงไปในใต้โลก เพื่อจะได้ไม่ปล่อย CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หรือเอา CO2 มาใช้ประโยชน์โดยเปลี่ยนเป็นสารตั้งต้นที่เรียกว่า Carbon nanotube เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง อาทิ เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบามาก ซึ่งตอนนี้ทำอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา ของ ปตท.สผ. ที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ที่มีผลผลิตออกมาแล้วแต่ปริมาณยังไม่มาก ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูดซับ CO2

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีก่อน ปตท.สผ. ได้เริ่มธุรกิจ AI & Robotics หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ้นยนต์ ผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ซึ่งไม่ได้เอามารองรับธุรกิจปัจจุบัน แต่จะมาช่วย ปตท.สผ.พัฒนาในเชิงเทคโนโลยี เริ่มจากพัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อสำรวจโครงสร้างอุตสาหกรรม Oil & Gas ตอนนี้กำลังจะสำรวจขา เสา ทาวเวอร์ของเทเลคอม ที่จะมีอยู่เป็นหมื่นๆ ต้น ทำให้เริ่มมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จะมีธุรกิจที่เกิดขึ้นจากแบบนี้มากขึ้น และจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้ ARV สามารถสร้างธุรกิจสุขภาพได้ โดยไปทำเตียงความดันลบ และจะนำเทคโนโลยี Seismic มาพัฒนาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในแง่มุมต่างๆ ของเฮลท์แคร์ ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้

ยังมองการทำไฮโดรเจนมากขึ้น โดยยังไม่มีการลงทุนแต่ได้พูดคุยกับทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อหวังว่าจะมีการศึกษาร่วมกัน

นอกจากนี้ กำลังศึกษาเรื่องเคมีภัณฑ์ต่างๆ จากส่วนเกินของ E&P มาใช้ประโยชน์ ถ้าพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ก็จะเป็นธุรกิจใหม่ เพราะต้นทุนทางวัตถุดิบแทบไม่มี แต่เพิ่มมูลค่าได้

ก่อนหน้านี้ นางอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน ปตท.สผ. เคยกล่าวว่า ปตท.สผ. ตั้งเป้าจะพัฒนาธุรกิจใหม่ให้มีสัดส่วนรายได้เป็น 20% ของรายได้รวมในปี 2573 และตั้งเป้าลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 25% โดยธุรกิจใหม่ประกอบด้วย 1.ธุรกิจ AI & Robotic ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 2.ธุรกิจไฟฟ้า โดยมองการลงทุนไปที่ประเทศเมียนมา และเวียดนาม ซึ่งจะทำ Gas to Power, LNG to Power และพลังงานหมุนเวียน และ 3.ธุรกิจ Carbon Capture Storage (CCS) หรือการดักจับคาร์บอน

และกำลังศึกษาที่จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่แท่นผลิตปิโตรเลียม การใช้เรือไฟฟ้า หรือเว็บคราฟท์ เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และจะนำก๊าซฯ ส่วนเกินจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ โดยกำลังศึกษาเทคโนโลยี CCS เพื่อนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย โดยคาดว่าจะนำ CCS มาใช้ในโครงการ SK 410B ในมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นโครงการแรกที่มีการใช้ CCS ในภูมิภาคนี้

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับ Energy Transition กำลังเป็นเทรนด์การลงทุนใหม่ของโลก โดยปัจจุบันมีบริษัทกว่า 1,200 แห่งทั่วโลก ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด และบริษัทหลายแห่งพัฒนาวัสดุอุปกรณ์พลังงานทดแทน เพราะการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล กระทบกับสภาพแวดล้อมอย่างมาก และปัจจุบันภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อย CO2 แม้ว่าจะมีการใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอและยังไม่สามารถทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลได้ โดยมีการประเมินว่า Energy Transition ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 30 ปีนี้ จะมีมูลค่าการลงทุนสูงมาก และเป็นโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้