สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

Last updated: 6 ต.ค. 2564  |  1471 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

“แผนพลังงานชาติ” ขับเคลื่อนพลังงานไทย ประเทศไทยไม่ปล่อยคาร์บอน

“แผนพลังงานชาติ” ภายใต้ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ทั้งมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาวและต่อเนื่อง กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลกระทบต่อการวางแผนด้านนโยบายพลังงานของประเทศไทย ให้มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ประเทศไทยได้เริ่มเดินหน้าในการกำหนดนโยบาย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน จัดทำ “แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022)” ซึ่งเป็นการรวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับเป้าหมายในการจัดทำแผนพลังงานชาติใหม่ โดยให้โจทย์สำคัญเรื่องการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จึงได้จัดทำแผนพลังงานชาติ ที่ให้ความสำคัญต่อแนวทางมุ่งสู่พลังงานสะอาดที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต มุ่งสู่เป้าหมาย “ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070” ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญ ประกอบด้วย

ด้านไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่น้อยกว่า 50% ให้สอดคล้องกับแนวโน้มต้นทุน RE ที่ต่ำลง โดยพิจารณาต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วย และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวสูงขึ้น

ด้านก๊าซธรรมชาติ จะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย (Regional LNG Hub)

ด้านน้ำมัน จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ในทุกภาคส่วนให้มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียวผ่าน EV ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ Zero Emission Vehicle (ZEV) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas : GHG) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่า 30% โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาใช้ในการบริหารจัดการพลังงาน

ทั้งนี้ สนพ. ได้เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็น “กรอบแผนพลังงานชาติ” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน สมาคมที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อนำความคิดเห็นที่ได้ไปจัดทำกรอบและทิศทางของแผนฯ ที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Neutral-carbon economy) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด และคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะภายในช่วงเวลา 1-10 ปีข้างหน้า ที่จะเร่งในเรื่องของพลังงานสะอาดมากขึ้น และจะเป็นแผนฯ ที่มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอนาคตพลังงานไทยตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่ง สนพ. คาดว่าแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) จะเริ่มใช้ได้จริงในปี 2566 นี้

“แผนพลังงานชาติ” ความท้าทายในการวางอนาคตด้านพลังงานของไทย ที่จะตอบโจทย์ในทุกมิติของประเทศ และนำประเทศไทยมุ่งสู่ Low Carbon Economy ที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เพื่อรองรับรูปแบบการค้าผ่านภาษีคาร์บอน เพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาด ซึ่งจะเพิ่มการลงทุนในประเทศ และยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิดด้วย ซึ่งจะทำให้ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้