ปตท. จำกัด (มหาชน)

Last updated: 2 มิ.ย. 2564  |  1265 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปตท. ปูพรมลงทุน EV ครบวงจร

ปตท. เร่งขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครบวงจรในประเทศไทย พร้อมจับมือพันธมิตรหลากหลาย ลงทุนทั้งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ขยายสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ โดยให้บริษัทลูกปูพรมลงทุน

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn Group) ในรูปแบบเสมือนจริง เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

Foxconn เป็นผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ส่วน ปตท. มีความแข็งแกร่งในธุรกิจพลังงาน ทั้งเครือข่ายพันธมิตร กลุ่มบริษัทในเครือและผู้ร่วมทุนปัจจุบัน ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิต และเสริมศักยภาพระบบนิเวศ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตลอดห่วงโซ่คุณค่ายานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้รับผลิตสินค้า (OEM) ในประเทศไทย ที่มีความสนใจสามารถเข้าถึงการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อร่วมสร้างอนาคตแห่งการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ในระยะแรก ปตท. และ Foxconn ตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและส่วนประกอบหลักต่าง ๆ แบบ end-to-end ด้วยเงินร่วมลงทุนขั้นต้นที่ 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะขยายการลงทุนในอนาคตต่อไป

ที่ผ่านมา ปตท. ได้เริ่มรุกเข้าสู่ห่วงโซ่ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยจับมือพันธมิตรทางธุรกิจ ในการพัฒนาเครือข่ายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charging Platform) หรือเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) รวมถึงการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ปตท.เตรียมพร้อมวางรากฐานธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ภายใน 2-3 ปีจากนี้ และอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตรถ EV เอง ทั้งรถ EV ประเภท 2 ล้อ และ 4 ล้อ และรถบรรทุก ส่วน Platform EV อยู่ระหว่างดำเนินการและในไตรมาส 3 นี้ จะเริ่มเปิดตัวได้อย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ได้มีการจัดตั้ง บริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) โดย บริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด (Alpha Com) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด 100% เพื่อดำเนินการและพัฒนาเครือข่ายสถานีชาร์จรถไฟฟ้า หรือเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า นอกสถานีบริการน้ำมัน เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน เป็นต้น รวมถึงจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า เช่น จัดจำหน่ายและติดตั้ง EV Charger ในที่พักอาศัย

นอกจากนี้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ก็เป็นบริษัทลูกอีกหนึ่งบริษัทที่ลงทุนทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station แต่หากอยู่นอกสถานีบริการน้ำมัน ก็จะให้ ออน-ไอออน เป็นผู้ดำเนินการ

และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ปตท. และ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ก็ได้เปิดตัวให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์เป็นรายแรกในพื้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) เป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่หลัก เพื่ออำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบัน ปตท. ได้ติดตั้ง EV Charging Station สถานีชาร์จรถไฟฟ้า พร้อมให้บริการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฯ ไบเทค และ True Digital Park สุขุมวิท 101

ปตท. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า กับ WM Smart Mobility Technology (Shanghai) Company Limited (WM Motors) จากประเทศจีน เพื่อร่วมมือกันศึกษาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ อาทิ การลงทุนในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อผลิต Localized model เป็นการต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่ และผลิตภัณฑ์พลาสติกของกลุ่ม ปตท.

สำหรับ WM Motors เป็นผู้ผลิตรถ EV แบรนด์ Weltmeister ซึ่งมียอดขายมากกว่า 10,000 คัน เป็นอันดับที่ 1 ของกลุ่มบริษัท EV Startup ในประเทศจีน

ปตท. ยังวางเป้าหมายจะเป็นผู้นำทางด้านผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage: ESS) ในประเทศไทย โดยได้ให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัทลูก เป็นผู้ศึกษาการลงทุนทางด้านนี้ เพื่อร่วมผลักดันอุตสาหกรรมรถชาร์จไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้คนไทยสามารถเข้าถึงแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสม ส่งผลให้รถยนต์ EV ในประเทศไทยมีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ มีอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย กระตุ้นให้เกิดการใช้และการลงทุนเพิ่มขึ้น

ซึ่ง GPSC ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบเทคโนโลยี Semi Solid ของ บริษัท 24M Technologies Inc. (24M) จากสหรัฐอเมริกา กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่พร้อมดำเนินการผลิตภายในไตรมาส 2 ปีนี้ นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi Solid สำหรับเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ของโรงงานดังกล่าว ในระยะแรกจะมีกำลังการผลิต 30 MWh และมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100 MWh โดยจะดูความต้องการของตลาดเป็นสำคัญ

แต่จากความต้องการแบตเตอรี่ในตลาดที่เพิ่มขึ้นมา จึงอยู่ระหว่างการศึกษาตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Semi-solid ขนาดใหญ่แห่งใหม่ มีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จากเดิมที่เคยตั้งเป้าขยาย 100 MWh เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในขณะนี้แบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid ของ 24M กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย นำมาใช้ได้ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา GPSC ยังได้จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อเข้าลงทุนใน บริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจาก 24M คิดเป็นการลงทุนในสัดส่วนประมาณ 11.1% เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่มีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

โดย AXXIVA จะลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ Semi-solid ระยะที่ 1 ที่ประเทศจีน มีกำลังการผลิต 1 GWh ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565 เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน

จะเห็นได้ว่าการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. มีการขยายอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะได้เห็นการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกในธุรกิจนี้ของ ปตท. ในอนาคตอันใกล้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้